หมอเอิร์ธ เตือนกลุ่มเสี่ยง เต้าหู้ขน กินแล้วอันตรายถึงชีวิต
หมอเอิร์ธ อติรุจ อาษาศึก โพสต์คลิปให้ความรู้ เต้าหู้ขนกินได้ แต่วิธีการทำต้องสะอาดจริง ๆ เรื่องพรีไบโอติกในเต้าหู้ขนยังไม่มีการรับรอง ย้ำกลุ่มเสี่ยงห้ามกินเด็ดขาด
หลังจากมีกระแสดราม่าเรื่องสาวรายหนึ่ง โพสต์คลิป TikTok สอนทำ เต้าหู้ขน อาหารสุดแปลกจากประเทศจีน พร้อมทั้งกินโชว์ โดยอ้างว่ามีโพรไบโอติก ช่วยในการขับถ่าย ทำให้เป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง ว่าเมนูนี้กินแล้วจะอันตรายหรือไม่ อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตในเรื่องความสะอาดในการประกอบอาหาร รวมถึงความเหมาะสมในการทำกินเองที่บ้าน
ล่าสุดบัญชีผู้ใช้ TikTok aertha33 หรือ หมอเอิร์ธ อติรุจ อาษาศึก อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ได้โพสต์คลิปด้วยแคปชั่นว่า “สรุปเต้าหู้ขนเนี่ย กินได้จริงไหม” ตอบข้อสงสัยกับชาวเน็ตทุกคนว่าแท้ที่จริงแล้วเมนูสุดประหลาดนี้สามารถกินได้จริงหรือไม่ มีอันตรายหรือเปล่า
หมอเอิร์ธ ได้กล่าวว่า ตนถูกแท็กไปดูเต้าหู้ขนเยอะมาก จึงออกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองรู้ โดยตัวเชื้อราไรโซปัส โอลิโกสปอรัส ปกติชาวอินโดนีเซียและชาวจีน มักนำมาหมัก เอามาประกอบอาหาร และนำมากินในช่วงที่ขาดแคลนอาหาร รวมทำยังน้ำเชื้อราดังกล่าวมาตัดแต่งพันธุกรรม ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
แต่สำหรับคนไทย ไม่ควรไปหากินตามเขาทั้งหมด เรื่องที่เต้าหู้ขนมีโพรไบโอติก ตรงนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่ออกมาชัดเจน และที่สำคัญกรรมวิธีในการทำต้องสะอาดจริง ๆ แต่ในคลิปนั้นทั้งมือ ทั้งเล็บ ไหนจะมีการห่อใบตอง อีกทั้งยังตากอากาศข้ามคืน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อราชั้นดี ขนาดรายังโตได้ แบคทีเรียอื่น ๆ คงไม่ต้องพูดถึง
อีกทั้งยังตอบคำถามของชาวเน็ตว่า สรุปแล้วเจ้าสิ่งนี้สามารถกินได้ไหม หมอเอิร์ธ ยืนยันว่า ในคนที่ร่างกายแข็งแรงปกติสามารถกินได้ เนื่องจากเชื้อราไรโซปัส โอลิโกสปอรัส เมื่อเวลาไปโดนกรดในกระเพาะอาหารเชื้อก็จะตายแบบการกินอาหารทั่วไป แต่โลกนี้ยังมีอะไรที่น่ากินอีกเยอะ ไม่รู้ไปสรรหามากินกันตอนไหน
สำหรับข้อควรระวัง เชื้อราตัวดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มมิวคอร์ ที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ โดยเฉพาะกับคนไข้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิและใช้สเตียรอยด์นาน ๆ สำหรับผู้ป่วยเหล่านี้จะมีกลไกในการกำจัดเชื้อโรคไม่ดีนัก จึงทำให้สามารถเกิดโรคได้
ส่วนกลไกการเกิดโรคของเชื้อรามีอยู่ 2 แบบ คือ 1. การสูดดมเอาสปอร์เข้าไป ทำให้เชื้อเข้าไปในปอด รวมถึงติดเชื้อในกระแสเลือด และ 2. การกินเข้าไป อาจทำให้กระเพาะทะลุ หรือดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งโรคเหล่านี้วินิจฉัยได้โดยยาก อีกทั้งยังต้องรับยารักษาที่จำเพาะ ทำให้อัตราการตายค่อนข้างสูงมาก
ต่อมา หมอเอิร์ธ โพสต์คลิปเพิ่มเติมเกี่ยวกับเต้าหู้ขน ที่เป็นภาคต่อจากคลิปก่อนหน้า โดยสรุปว่า หากทำเต้าหู้ขนในกรรมวิธีที่สะอาด ควบคุมอุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง รวมทั้งมีแค่เชื้อราไรโซปัส โอลิโกสปอรัส เพียงตัวเดียว ก็สามารถกินได้ในปริมาณที่พอเหมาะ พร้อมย้ำว่าผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงห้ามกินเด็ดขาด
ในคลิปนี้ได้หยิบยก 2 เคสตัวอย่างที่เสียชีวิตจากเชื้อราไรโซปัส โอลิโกสปอรัส เคสแรกเกิดในปี 1989 เป็นชายวัย 49 ปี มาโรงพยาบาลเนื่องจากกระดูกสันหลังหัก เมื่อเพาะเชื้อปรากฎว่าพบเชื้อราตัวดังกล่าว เคสที่สองเจอในปี 2012 ที่ประเทศบราซิล
@aertha33 สรุปเต้าหู้ขนเนี่ย กินได้จริงไหม #รู้จากtiktok #tiktokcommunityth
@aertha33 อีกนิดนึง เต้าหู้ขน ราขน ก่อนจากกัน #รู้จากtiktok #tiktokcommunityth