ข่าว

อ.เจษฎา เฉลยแล้ว จอดรถตากแดดนาน ทำผ้ายางปูพื้นรถยนต์ไฟไหม้ได้ไหม

อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ให้ความเห็นกรณีคลิป TikTok เตือนจอดรถนาน ๆ อาจทำผ้ายางปูพื้นรถยนต์ไฟไหม้ได้ ชี้ควันที่ลอยขึ้นมาไม่ใช่ควันไฟ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่าน Facebook อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ชี้แจงเกี่ยวกับคลิป TikTok ที่มีควันขึ้นจากผ้ายางปูพื้นรถยนต์ หลังจากจอดรถตากแดดเป็นเวลานาน เตือนระวังไฟไหม้ พร้อมย้ำผ้ายางไม่สามารถเกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้ หากไม่ใช้อุณหภูมิที่สูงมาก ๆ

คลิปดังกล่าวมาจากบัญชีผู้ใช้ TikTok boring_home โดยเจ้าของคลิปได้เล่าว่า เขาทำการลดกระจกทำให้แสงแดดลอดเข้ามาในตัวรถ รวมทั้งตนเองได้นั่งอยู่ในรถเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้กลิ่นเหมือนเหม็นไหม้ จึงหันหลังไปดูโซนหลังคนขับ ก็พบกับควันลอยคลุ้งเหนือผ้ายางปูพื้นรถยนต์ เมื่อสัมผัสที่ผ้ายางปรากฎว่ามีความร้อนสูง จึงเกิดคำถามว่าอาจเกิดไฟไหม้ได้หรือไม่ จึงได้โพสต์คลิปเตือนภัย จอดรถตากแดด ระวังไฟไหม้ผ้ายางปูพื้นรถยนต์

ควันลอยออกจากผ้าปูยางรถยนต์
ภาพจาก : TikTok @boring_home

อาจารย์เจษฎา จึงได้แสดงความเห็นว่า ผ้ายางปูพื้นรถยนต์ไม่สามารถไฟไหม้ได้ เหตุเพราะทำจากพลาสติกเนื้อนุ่ม ซึ่งต้องใช้อุณหภูมิสูงมาก กว่าที่จะทำให้มันละลายหรือเผาไหม้กลายเป็นควันได้ ถ้าพอเป็นไปได้มากกว่า ก็อาจจะเป็นน้ำยาหรือแว็กซ์ที่มาเคลือบบนผ้ายางนั้น

แน่นอนว่าการจอดรถตากแดดจัด ๆ ไว้เป็นเวลานาน ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ ต่อทั้งสีรถ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถ ถ้าจำเป็น ก็ควรเปิดกระจกแง้มระบายความร้อน หรือติดฟิล์มกรองแสงคุณภาพดี เพื่อลดความร้อนสะสมในตัวรถยนต์นะครับ จากนั้นอาจารย์เจษฎา จึงให้ทุกคนลองพิจารณารายละเอียด ดังนี้

– วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ผู้ใช้ TikTok ชื่อ @boring_home โพสต์คลิป จอดรถอยู่กลางแดด แต่เปิดกระจกหลังไว้ พบว่าบริเวณผ้ายางปูพื้นเริ่มมีควันขึ้นไม่หยุด พร้อมระบุข้อความว่า “เตือนภัยจอดรถตากแดด ระวังไฟไหม้ผ้ายางปูพื้น ผมลดกระจกลงเกือบทั้งบาน นั่งอยู่ในรถประมาณ 1 ชั่วโมง ได้กลิ่นเหม็นอะไรไหม้ ๆ แล้วก็เจอควันอย่างที่เห็น ที่ผ้ายางคือร้อนมาก ๆ ปล่อยไว้นานกว่านี้มีโอกาสเกิดไฟลุกไหม้ไหมครับ?”

– เจ้าของรถได้เล่าเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าผ้ายางปูพื้นจะเริ่มมีควันขึ้น และมีกลิ่นไหม้เหมือนเผาพลาสติก แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว ไม่มีอะไรที่ติดไฟ นอกจากเกิดควันขึ้น ตนก็ปิดกระจกบานดังกล่าว และควันก็หายไป

– หลายคนที่ดูคลิปดังกล่าวนี้ เกิดอาการตกใจ เพราะเชื่อกันว่า ถ้าจอดรถเปิดกระจกไว้นั้น จะช่วยระบายอากาศได้ พร้อมแนะนำให้เจ้าของรถตัดสินใจเปลี่ยนผ้ายางปูพื้นใหม่เพื่อป้องกันเอาไว้

– ซึ่งเรื่องนี้ พิจารณาแล้ว มีความผิดปกติหลายอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปของการที่ “ผ้ายางปูพื้นรถ” จะลุกไหม้ติดไฟ หรือแม้แต่มีควันเกิดขึ้นได้ ในรถที่เปิดกระจกไว้เกือบทั้งบานอย่างนี้ แถมเจ้าของรถสามารถนั่งอยู่ในรถได้นับชั่วโมง อุณหภูมิที่คนอยู่ได้นานแบบนี้ น่าจะไม่เกิน 40 องศาเซลเซียสบวกลบ ไม่เช่นนั้นก็น่าจะไม่สบายไปแล้ว

– ส่วนผ้ายางปูพื้นรถยนต์นั้น จริง ๆ แล้ว ทำจากพลาสติกชนิดนิ่ม จนรู้สึกคล้ายยาง ที่นิยมใช้และมีราคาถูกที่สุดคือพลาสติกชนิด EVA หรือ Ethylene vinyl acetate หรือ เอทิลีนไวนิลแอซีเตด ซึ่งทนความร้อน มีจุดหลอมเหลวสูงที่ 90 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรจากความร้อนของรถที่จอดตากแดด (แถมเปิดกระจก) แบบนี้

– พลาสติก EVA เป็นพลาสติกที่ใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้จากการทำพอลิเมอไรเซชัน (polymerization) ระหว่าง เอทิลีนมอโนเมอร์ (ethylene monomer) กับสารไวนิลแอซีเตดมอโนเมอร์ (vinyl acetate monomer – VAM) มีสมบัติเด่นคือ นิ่ม ยืดหยุ่นได้ดี มันเงา ทนแสง UV ได้ ขึ้นรูป และปิดผนึกได้ด้วยความร้อน กันน้ำได้ดี

– ส่วนพลาสติกชนิดอื่นๆ ที่มีการนำมาใช้ทำผ้ายางปูพื้นรถ ก็จะมีชนิด PVC และ PU ซึ่งก็มีราคาสูงขึ้น และไม่ได้จะหลอมเหลวเผาไหม้ได้ ด้วยความร้อนจากเพียงแค่ในรถที่จอดตากแดดเช่นนี้

– สมมติฐานที่พอเป็นไปได้ คือ ควันและกลิ่นไหม้นั้น อาจจะเกิดจากสารอื่นที่ระเหยง่ายเมื่อถูกความร้อนสูง ตัวอย่างเช่น ถ้าเอารถไปล้างที่คาร์แคร์ แล้วคาร์แคร์นั้นช่วยทาแว็กซ์ หรือสารเคลือบเงา อะไรให้กับผ้ายางด้วย ก็เป็นไปได้ที่เมื่อได้รับความร้อนสะสมมาก ๆ เข้า ก็จะระเหยกลายเป็นควันให้เห็นครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button