เทียบดีลภาษีสหรัฐฯ ไทย-เวียดนาม ใครเจ็บ ใครได้เปรียบ เกมการค้าทรัมป์

ไทยเผชิญภาษีสหรัฐฯ สูง 36% ขณะที่เวียดนามเจรจาลดเหลือ 20% สำเร็จด้วยกลยุทธ์ลดภาษีนำเข้า และร่วมมือแก้ปัญหา ทางผ่านสินค้าจีน แสดงความแตกต่างของผลลัพธ์การเจรจาระหว่างสองประเทศ
จากกรณีที่ไทยต้องเผชิญกับกำแพงภาษีในอัตราสูงถึง 36% หลังทรัมป์ได้ส่งจดหมายมายังประเทศไทย และจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม นี้นั้น ซึ่งถือว่าการเจรจาของทีมไทยแลนด์นั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่เวียดนาม เป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่สามารถเจรจาลดภาษีจาก 46% เหลืออยู่ 20% ได้สำเร็จ ด้วยการลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ส่วนไทยไม่ได้มีรายละเอียดใด ๆ ออกมา มีเพียงแต่ตั้งเป้าให้เหลือ 10-20% ให้ได้

ข้อตกลงเจรจาภาษีสหรัฐฯ ของไทย
สำหรับการเจรจาครั้งล่าสุดนั้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า “ทีมประเทศไทย” ได้มีการปรับปรุงและยื่นข้อเสนอฉบับใหม่ไปให้ทางสหรัฐฯ พิจารณาแล้วก่อนถึงเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้มีไฮไลต์สำคัญคือการเสนอ ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ให้กับสินค้าจากสหรัฐฯ ในหลายรายการ แต่ข้อเสนอก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีการเปิดเผยว่าเป็นอย่างไร
จากข้อเสนอใหม่ระบุว่า มีการให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลัก คือ การสร้างสมดุลทางการค้า กับสหรัฐฯ ให้เร็วขึ้น และ การเปิดทางการค้าขาย เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน โดยมีแนวทางนอกเหนือจากการลดภาษี เช่น การเสนอที่จะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีการเสนอแก้ไขอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดได้ยากแม้ภาษีจะต่ำ
ข้อตกลงเจรจาภาษีสหรัฐฯ ของเวียดนาม
เวียดนามต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้ประกาศว่าจะใช้มาตรการทางภาษีอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุมาจากข้อกล่าวหาหลายประการ ทั้งการที่เวียดนามเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และที่สำคัญคือข้อกล่าวหาเรื่องการเป็น ทางผ่านให้กับสินค้าจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีที่สหรัฐฯ ตั้งไว้กับจีนโดยตรง ข้อกล่าวหาเหล่านี้ทำให้สหรัฐฯ เคยพิจารณาที่จะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในอัตราสูงถึง 46% ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจเวียดนามที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้เดินเกมการทูตและการเจรจาอย่างหนักในทุกระดับ โดยชูจุดเด่นของตนเองในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรอง พร้อมทั้งแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการลักลอบส่งผ่านสินค้าจากจีน โดยมีรายงานว่าข้อตกลงใหม่นี้ได้รวมถึงการที่เวียดนามจะให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น (อาจถึง 40%) กับสินค้าต้องสงสัยที่มาจากจีนด้วย
การที่เวียดนามสามารถเจรจาลดภาษีลงมาเหลือ 20% ได้นั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (Win-Win Situation)
สำหรับเวียดนาม แม้จะต้องยอมรับอัตราภาษี 20% ซึ่งสูงกว่าในอดีต แต่ก็ยังดีกว่าการเผชิญกับอัตรา 46% สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้รับความชัดเจน ซึ่งทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจต่อไปได้ และยังช่วยกระตุ้นให้ GDP ของเวียดนามในปีนี้เติบโตได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ส่วนสหรัฐอเมริกา สามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น สินค้าจากสหรัฐฯ สามารถเข้าตลาดเวียดนามได้โดยไม่เสียภาษี และที่สำคัญคือสามารถดึงเวียดนามเข้ามาเป็นพันธมิตรในการปิดช่องทางการหลีกเลี่ยงภาษีของจีนได้สำเร็จ
ข้อตกลงนี้จะยิ่งส่งเสริมให้เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตที่น่าดึงดูดสำหรับบริษัทต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน (Supply Chain Diversification) และจะยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามในสินค้าสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกับที่ประเทศไทยส่งออกไปแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไหนว่าข่าวลือ ย้อนคำพูด แพทองธาร-พิชัย หลัง สหรัฐฯ ร่อนจดหมาย รีดภาษี 36%
- “ภูมิธรรม” ไม่หมดหวัง โดนภาษีทรัมป์ 36% หลังจากนี้จะมีอะไรดีขึ้น
- เปรียบเทียบตัวเลข 14 ประเทศ ก่อน-หลังเจรจา “ภาษีทรัมป์”
ติดตาม The Thaiger บน Google News: