ท่องเที่ยวอีเว้นท์

คนไทยต้องรู้ “อุทยานแห่งชาติทับลาน” แหล่งล่อเลี้ยงชีวิต ในวันวิกฤติ เสี่ยงสูญเสีย

เปิดประวัติ ป่าทับลาน พื้นที่ธรรมชาติที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติทับลาน แหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาพันธุ์ มีน้ำตกสายสำคัญคอยหล่อเลี้ยงทั้งคนและสัตว์ ล่าสุดรัฐบาลประกาศปรับปรุงแนวเขตที่ดิน ทำให้มีพื้นที่ป่าโดนลุกล้ำ ประชาชนเรียกร้องให้ตรวจสอบ หวั่นกระทบระบบนิเวศวงกว้าง

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,397,375 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอนาดี และจังหวัดนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 อุทยานแห่งชาติทับลานได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ภายในประกอบด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าลานที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแห่งสุดท้ายในประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 0.032 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยต้นลานและพันธุ์ไม้นานาชนิด นอกจากนี้ยังมียอดเขาสูงสุดคือยอดเขาละมั่ง สูงอยู่ที่ระดับ 992 เมตร มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง

นอกจากจะมีแหล่งธรรมชาติที่สมบูรณ์แล้ว ยังมีน้ำตกทับลานที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำสำคัญหลายสายที่ไหลรวมกันกลายเป็นแม่น้ำมูลและแม่น้ำบางปะกง หล่อเลี้ยงผู้คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก และน้ำตกเหวนกกก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีความสูง 20 เมตร โดยจะมีน้ำไหลเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น

ภาพ Facebook : อุทยานแห่งชาติทับลาน – Thap Lan National Park

ทั้งนี้ยังมีน้ำตกห้วยคำภู เป็นลำธารที่มีน้ำไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ ด้านล่างเป็นฝายน้ำล้นเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีสถานที่เชิงท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่มากมาย และมีเขื่อนลำมูลบนซึ่งเป็นเขื่อนดินสูง 30 เมตร และเป็นต้นน้ำของแม่น้ำมูลที่เกิดจากผืนป่าทับลาน บนสันเขื่อน เมื่อมองลงมาจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของอ่างเก็บน้ำ และมีการพัฒนาบริเวณหาดบริเวณท้ายเขื่อนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียกว่า หาดจอมทอง เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อน พักตากอากาศ ลงเล่นน้ำ ล่องแพ และขึ้นไปชมทิวทัศน์บนเขาจอมทอง

อุทยานแห่งชาติทับลาน
ภาพ Facebook : อุทยานแห่งชาติทับลาน – Thap Lan National Park

ปัจจุบันผืนป่าพื้นที่ทับลานถูกผู้คนเข้าไปบุกรุกทำลายจนเหลือเพียงป่าลานแห่งสุดท้าย บริเวณบ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านบุพราหมณ์และบ้านวังมืด จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของอุทยานแห่งชาติทับลาน ภายในอุทยานมีป่าลานเป็นป่าผลัดใบที่มีสภาพเป็นป่าโปร่งมีต้นลานขึ้นอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่

ทั้งนี้ ไม้ลานเป็นพืชในตระกูลปาล์ม (Palmae) บริเวณป่าลานและป่ารุ่นยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ กระรอก หนู กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า เหยี่ยวขาว นกคุ่มอกลาย กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหางยาว อึ่งอ่างบ้าน และคางคก เป็นต้น

ภาพ Facebook : อุทยานแห่งชาติทับลาน – Thap Lan National Park

ล่าสุด ผู้คนกำลังให้ความสนใจกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช) ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

ข้อมูลพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,387,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร หากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกังวลว่า หากรัฐบาลเข้ามาจัดการพื้นที่บริเวณนี้ อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า และลดจำนวนพื้นที่ป่าในเขตอุทยาน จึงร่วมคัดค้านเพิกถอนพื้นที่อุทยานทับลาน 2.6 แสนไร่ หลังกรมอุทยานเปิดทำสำรวจ ชี้ว่าเป็นศูนย์กลางระบบนิเวศตามระเบียบในการกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ

การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนจะต้องรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการตาม 7 ประเด็น ดังนี้

1. ท่านเห็นชอบการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (ONE MAP) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลานหรือไม่ อย่างไร

2. เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรจะสามารถแก้ไขปัญหา ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร

3. มั่นใจหรือไม่ว่า ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาดั้งเดิมและจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือของนายทุน

4. การใช้แนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่

5. จะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่น ๆ อีกหรือไม่ ในเมื่อพื้นที่อื่น ๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน

6. เป็นการขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศหรือไม่ อย่างไร

7. การดำเนินการครั้งนี้จะส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้ที่เว็บไซต์ อุทยานแห่งชาติทับลาน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2567

ป่าลานผืนสุดท้ายของไทย

เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ Ep.24 อุทยานแห่งชาติทับลาน “ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศไทย” โดยมีเนื้อหาระบุว่า ”อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มาก มีสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษณะทางนิเวศวิทยาของป่าภาคกลาง กับนิเวศวิทยาของป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

โดยเฉพาะบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีต้นลานป่าขึ้นกระจายพันธุ์ในพื้นที่อย่างหนาแน่น ซึ่งต้นลานจัดเป็นไม้ตระกูลปาล์ม เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 10-26 เมตร จึงกล่าวได้ว่าลานป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นป่าลานธรรมชาติผืนที่สมบูรณ์ที่สุด และผืนสุดท้ายของประเทศไทย

ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button