ข่าว

พยากรณ์อากาศวันนี้ 14 พ.ย. 66 ทั่วไทยยังมีฝนฟ้าคะนอง โปรดระวังอันตรายจากฝน

พยากรณ์อากาศวันนี้ ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากบางพื้นที่ พร้อมพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยคำทำนายสภาพอากาศประจำวันนี้ (14 พ.ย. 66) ผ่านทางเฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมอัปเดตแนวโน้มฝนฟ้าคะนองรายวัน และพยาการณ์อากาศในอีก 7 วันข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้

Advertisements

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (14 พ.ย. 66) บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นในตอนเช้าและมีฝนเล็กน้อย

สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สำหรับบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดือนเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 16-19 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส ภาคเหนืออุณหภูมิจะลดลง 4–6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 2–4 องศาเซลเซียส

สภาพอากาศวันนี้ 14 พ.ย. 66
ภาพจาก Facebook Page : กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า: ในช่วงวันที่ 14 – 15 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส

Advertisements

ส่วนภาคเหนืออุณหภูมิลดลง 1 – 2 องศาเซลเซียส สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 16-20 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส ภาคเหนืออุณหภูมิจะลดลง 4 – 6 องศาเซลเซียส

ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 2 – 4 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 – 2 เมตร

ข้อควรระวัง: ในช่วงวันที่ 16-19 พ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และลมแรง สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง ส่วนเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 17-19 พ.ย. 66 นี้ไว้ด้วย

สถานการณ์แผ่นดินไหว ในช่วงวันที่ 13-14 พ.ย. 66: ไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศและใกล้เคียงที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

พยากรณ์อากาศล่วงหน้า 14-20 พ.ย. 66
ภาพจาก Facebook Page : กรมอุตุนิยมวิทยา

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button