เพิ่งฉายเป็นตอนแรกก็กระแสดีเกินต้านสุด ๆ สำหรับละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง พรหมลิขิต ที่มีฉากหลังเป็นประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับยุคของพระเพทราชา โดยมีตัวละครหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจไม่แพ้ตัวละครหลักในเรื่องคือ “ท้าวทองกีบม้า”
ทั้งนี้ ด้วยปูมหลังตัวละครในเรื่องแทบจะเป็นชาวอยุธยาทั้งหมด เว้นเสียแต่ท้าวทองกีบม้าที่เป็นสตรีต่างชาติกับสามีอย่างพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกที่รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยในละครพรหมลิขิตนั้นสะท้อนภาพชีวิตของท้าวทองกีบม้าออกมาได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในช่วงชีวิตที่ตกอับหลังจากสามีต้องโทษประหาร
‘ท้าวทองกีบม้า’ จากราชินีขนมไทย สู่แม่หม้ายชีวิตตกอับ
ประวัติท้าวทองกีบม้า หรือชื่อในภาษาโปรตุเกสว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา และในภาษาฝรั่งเศสว่า มารี กีมาร์ โดยภาพรวมแล้วสตรีสูงศักดิ์ชาวต่างชาติผู้นี้เป็นที่รู้จักกันในนามของราชินีแห่งขนมไทย เนื่องจากมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างต่อ ๆ กันมาว่าท้าวทองกีบม้าเป็นผู้คิดค้นขนมไทย เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ และทองหยอด เป็นต้น
จากชีวิตที่เคยเป็นสตรีมากด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ พลันหายไปในพริบตาเดียวหลังสามีของเธอ พระยาวิไชเยนทร์ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน โดยหลังจากที่อยุธยาเข้าสู่ยุคของพระเพทราชาแล้วนั้น ท้าวทองกีบม้าก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมอันโหดร้าย เนื่องด้วยชีวิตเข้าไปพัวพันกับพระเจ้าเสือ
ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ มีชีวิตอยู่ต่อมาได้แบบหญิงที่สิ้นเนื้อประดาตัว แถมยังถูกขุมคังอยู่ในโรงม้าอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ชีวิตของนางเหมือนจะพลิกฟื้นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะต่อมาท้าวทองกีบม้าได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง ทว่าความสวยของนางดันไปสะดุดสายพระเนตรของพระเจ้าเสือ หรือหลวงสรศักดิ์ในขณะนั้น
ท้าวทองกีบม้า ปฏิเสธเป็นพระสนมพระเจ้าเสือ สาเหตุทำชีวิตตกอับ
พระเจ้าเสือหลงใหลในความงามของนาง และมีพระประสงค์จะนำนางไปเป็นบาทบริจาริกา โดยช่วงแรกพระเจ้าเสือส่งคนมาเกลี้ยกล่อมนางทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะใจนางได้ และเมื่อความหลงใหลไม่ถูกตอบสนองก็แปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง หลังจากนั้นพระเจ้าเสือก็ขู่อาฆาตท้าวทองกีบม้าตามราวีไม่สิ้นสุด
อย่างไรก็ดี อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าชีวิตของท้าวทิงกีบม้าในยุคของพระเพทราชานั้นดูจะไร้ปัญหาอื่นใด นอกเสียจากเรื่องทรัพย์สินที่พระวิไชเยนทร์เคยลงทุนเอาไว้ โดยเรื่องราวในบั้นปลายชีวิตของนางได้รับส่วนแบ่งในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทการค้าฝรั่งเศส
หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าเสือ ท้าวทองกีบม้าก็ถูกโปรดเกล้าฯ ไปรับราชการฝ่ายในโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ นางได้รับหน้าทีให้ดูเครื่องเงินและเครื่องทองของวังหลวง รวมไปถึงหน้าที่เก็บพระภูษาฉลองพระองค์ โดยมีสตรีใต้บังคับบัญชากว่า 2,000 คน
ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตจึงทำให้เป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ ในช่วงบั้นปลายชีวิต ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด ก่อนจะถึงแก้มรณกรรมในปี พ.ศ. 2265 เป็นอันจบชีวิตหม้ายสาวต่างชาติที่แสนอาภัพ
ข้อมูลจาก : wikipedia และ silpa-mag