เทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนอย่างเทศกาลกินเจ 2566 จัดเป็นเทศกาลงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ ลูกหลานชาวจีนรวมถึงผู้มีจิตศรัทธาจะได้ถือศีลกินผัก ละเว้นเนื้อสัตว์ตลอด 9 วัน 9 คืน จัดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน โดยปีนี้ตรงกับช่วงวันที่ 2-11 ตุลาคม 2567
ตามความเชื่อตั้งแต่อดีต เมื่อล้างท้องกินเจ และเข้าสู่กระบวนกินผักละเว้นเนื้อสัตว์ จะต้องออกจากการถือศีลกินผัก กลับมารับประทานอาหารตามปกติ หรือที่หลายคนเรียกว่า “การออกเจ” หลายท่านอาจจะมีข้อสงสัย เนื่องจากวันกินเจมีกำหนดที่ค่อนข้างแน่นอน แต่ออกเจเราต้องเริ่มตอนไหน แล้วต้องจุดธูปบอกองค์เทพเหมือนตอนกินเจหรือเปล่า พร้อมวิธีออกเจ ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งสุขภาพดี
ออกเจวันไหน กี่โมง
เทศกาลกินเจแต่ละปี กำหนดช่วงเวลาไว้ 9 วัน 9 คืน หากเคร่งครัดเรื่องการกินเจมาก ๆ อาจเลือกรับประทานให้ครบ 3 มื้อ ตลอด 9 วัน รวม 27 มื้อ และออกเจในมื้อวันถัดไป สำหรับการกินเจ 2566 เราอาจออกเจช่วงที่ 13 ตุลาคม โดยอาจเริ่มรับประทานอาหารตามปกติได้ตั้งแต่มื้อเช้า เวลา 8 โมงตรงเป็นต้นไป
บางความเชื่อบอกว่า การออกเจจะเริ่มช่วงเที่ยงในวันถัดไป จากวันสุดท้ายของเทศกาลกินเจ กล่าวคือกินเจปี 2566 สิ้นสุดที่วันที่ 12 ตุลาคม จะรับประทานอาหารเจมื้อสุดท้ายช่วงเช้าวันที่ 13 ตุลาคม ส่วนมื้อเที่ยงค่อยออกเจ และกลับไปรับประทานอาหารตามปกติ
อย่างไรก็ตาม เรื่องการออกเจขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้กินเจ และความเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากบางท่านอาจรับประทานอาหารเจเพียง 2 -3 วัน หรือรับประทานเป็นบางมื้อตามแต่สะดวก เนื่องจากเราสามารถเลือกได้ว่าจะออกเจก่อนหรือหลังเทศกาลกินเจก็ได้
ออกเจต้องไหว้องค์เทพหรือเปล่า
บางความเชื่อก่อนเข้าสู่เทศกาลกินเจ ผู้ที่กินเจต้องจุดธูปอธิษฐานต่อเทพเจ้า ทั้งเง็กเซียนฮ่องเต้ เจ้าแม่กวนอิม และองค์ตี่ จ่าง อ๊วง หรือองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยธูปสีชมพู 12 ดอก และสีฟ้า 12 ดอก ที่โรงเจ ศาลเจ้า หรือที่ใดก็ได้ เพื่อเป็นการบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่าจะเริ่มถือศีลกินผัก ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์
การออกเจนั้นไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่า เมื่อออกเจต้องจุดธูปกี่ดอก หรือต้องจุดธูปเพื่อบอกกล่าวองค์เทพหรือไม่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล โดยเราสามารถออกเจ ไปรับประทานอาหารตามปกติได้ หรือหากท่านใดมีความประสงค์ไหว้เทพเจ้า เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าจะเลิกงดเว้นเนื้อสัตว์ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ออกเจต้องทําไง
ก่อนเริ่มถือศีลกินเจเราต้องล้างท้อง เพื่อปรับสมดุลร่างกาย ช่วงหลังกินเจเราก็ต้องปรับอาหารการกินเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมาเช่นกัน โดยวิธีการออกเจแบบสุขภาพดี สามารถทำได้ ดังนี้
1. ปรับการรับประทานอาหารให้ลดลงทีละน้อยในช่วงก่อนออกเจ
ช่วงระหว่างกินเจ ร่างกายจะได้รับโปรตีนจากธัญพืชจำพวกถั่ว งา รวมถึงเต้าหู้ และจะไม่ได้รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพื่อเสริมโปรตีนเลยแม้แต่นิดเดียว ร่างกายจึงเคยชินกับการรับอาหารแบบย่อยง่าย หากช่วงออกเจเราเลือกรับประทานเนื้อสัตว์โดยทันที จึงอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและระบบย่อยอาหารได้
การออกเจอย่างกะทันหัน อาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ แนะนำให้ผู้ที่กินเจค่อย ๆ ปรับการรับประทานอาหารช่วงก่อนออกเจ อาจเลือกเป็นเนื้อปลา ไข่ แทนการรับประทานเนื้อสัตว์ย่อยยาก เช่น เนื้อวัว เนื้อวัว จากนั้น 2 – 3 วัน จึงค่อยกลับมารับประทานเนื้อไก่ เนื้อหมู อาหารทะเล หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ
นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด ไม่ว่าจะรสเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีรสอ่อน ๆ อย่าเพิ่มปรุงเพิ่ม เพราะอาจเกิดปัญหากับระบบย่อยอาหารตามมาได้ง่าย ๆ
ผู้ที่กินเจบางราย หากกลับมาดื่มนมในช่วงออกเจอาจเกิดอาการท้องอืดได้ เนื่องจากร่างกายไม่ได้ผลิตน้ำย่อยสำหรับย่อยนมเป็นเวลานาน วิธีแก้คือ ค่อย ๆ ดื่มนมทีละนิด และควรดื่มหลังมื้ออาหาร เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับสภาพ และกลับมาทำงานได้ตามปกติ
2. รับประทานอาหารที่หลากหลาย
อาหารเจหลายอย่างมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่อาจขาดแร่ธาตุจำเป็นบางอย่าง หรือหากรับประทานไม่หลากหลาย อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้เช่นกัน เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินบี 12
หลังออกเจ ควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน เนื้อสัตว์ต่าง ๆ อาหารทะเล โดยเน้นที่อาหารประเภทโปรตีน เนื่องจากอาหารเจส่วนใหญ่มีสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างมาก หรืออาจเลือกเป็นนม ผลิตภันณฑ์จากนม หรือรับประทานเครื่องในสัตว์ เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมและธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารจำพวกผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม ผักบุ้ง ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวไรซ์เบอร์รี หรือผลไม้สด อาหารเหล่านี้มีไฟเบอร์สูง มีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
3. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
ไม่เพียงแต่การเลือกรับประทานให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน รวมถึงปรับเมนูเพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพแล้ว สิ่งสำคัญช่วงออกเจคือ การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย และหากดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหาร จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ดี
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แม้หลายท่านอาจมองว่าการกินทำให้สุขภาพดี ช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากอาหารส่วนใหญ่มีผักเป็นส่วนประกอบ แต่อย่าลืมว่าอาหารเจมีคาร์โบไฮเดรตเยอะ อีกทั้งหลายเมนูยังใช้วิธีการทอด เช่น เผือกทอด กล้วยทอด ปอเปี๊ยะทอด เมนูยอดฮิตช่วงกินเจเลยก็ว่าได้
ด้วยเหตุนี้ช่วงออกเจจึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจวิ่ง คาร์ดิโอเบา ๆ ตามสะดวก ควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ นอกจากจะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย
เทศกาลกินเจ 2566 เป็นอีกหนึ่งเทศกาลงานบุญที่ปรากฏความเชื่อมากมาย ไม่ว่าจะการออกเจ หรือการไหว้เทพเจ้าเพื่อออกเจ ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล แต่ควรคำนึงถึงความสะดวกของผู้กระทำเป็นหลัก เพื่อให้กินเจได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องพิธีรีตอง นอกจากนี้ ทุกท่านสามารถนำวิธีการออกเจไปปรับใช้ได้ เพื่อให้ร่างกายไม่รวน แถมยังช่วยให้สุขภาพดีขึ้นไปอีก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- ‘กินเจ’ กินอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อิ่มทองอิ่มบุญไปด้วยกัน
- ความเชื่อเรื่องการกินเจ ตอบทุกคำถาม กินแล้วได้บุญไหม ทำไมต้องล้างท้อง
- เปิดพิกัด 12 สถานที่ จัดเทศกาลกินเจ 2566 อิ่มบุญทั่วไทย โดย ททท.