วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชา ร.9 ที่ถูกต้อง เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ 2567

เนื่องในวันที่ 5 ธันวาคม 2567 เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย อีกทั้งยังเป็นวันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ ทางรัฐบาลจึงได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 พร้อมเครื่องราชสักการะ เครื่องทองน้อย ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน ตลอดเดือนธันวาคม 2567 ทางหน่วยงานราชการจึงจัดทำคู่มือในการจัดโต๊ะหมู่บูชาสักการะ เพื่อให้ทุกหน่วยงานรวมถึงประชาชนทุกคนสามารถจัดตามได้โดยง่าย
การจัดโต๊ะหมู่บูชาถวายสักการะ รัชกาลที่ 9 สิ่งที่ต้องเตรียม
ในการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 นั้น นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์ที่จำเป็นต้องเตรียมไว้แล้ว ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องเตรียมเพิ่มเติม มีดังนี้

1. โต๊ะหมู่บูชา
โต๊ะหมู่ที่นำมาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ รวมถึงวางเครื่องทองน้อยและเครื่องสักการะต่าง ๆ ต้องจัดตามรูปแบบความเหมาะสม อาทิ โต๊ะหมู่บูชา 5, โต๊ะหมู่บูชา 7, โต๊ะหมู่บูชา 9 และ โต๊ะหมู่บูชา 11 อีกทั้งควรเลือกฐานที่มีพื้นที่พอดีกับการวางพานพุ่ม เครื่องทองน้อย เครื่องสักการะ รวมถึงต้องมีโต๊ะที่วางฐานพระบรมฉายาลักษณ์ที่เหมาะสม

2. เครื่องทองน้อย
เครื่องทองน้อย คือ เครื่องสักการะขนาดเล็กของไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ประกอบไปด้วยเชิงเทียน 1 เชิงธูป 1 กรวยปักดอกไม้ 3 กรวยตั้งอยู่บนพาน ในอดีตมีเพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้น ที่จะทรงใช้เครื่องทองน้อยเป็นเครื่องราชสักการะพระบรมศพ พระบรมอัฐิ พระบรมราชานุสาวรีย์ แต่ในปัจจุบันใช้สำหรับการสักการะบูชาผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และสามัญชนทั่วไป

3. พานพุ่มเงิน-พุ่มทอง
พานพุ่มเงิน-พุ่มทองนั้น จะนำไปตั้งไว้ประจำโต๊ะหมู่บูชาหรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อใช้เป็นเครื่องบูชา ให้จัดตั้งพานพุ่มทองไว้ทางด้านขวาของพระบรมฉายาลักษณ์ (ด้านซ้ายมือของผู้วาง) และวางพานพุ่มเงินไว้ทางซ้ายของพระบรมฉายาลักษณ์ (ด้านขวามือของผู้วาง)

4. พานพุ่มดอกไม้
พานพุ่มดอกไม้นั้น ช่างประดิษฐ์ดอกไม้ไทยจะนำดอกไม้สดได้แก่ ดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกจำปี ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกไม้อื่น ๆ มาจัดแต่งเป็นทรงพุ่ม มีลักษณะคล้ายพนมมือ นำมาตั้งไว้บนพาน แล้วนำไปตั้งบูชาพระรัตนตรัย หรือนำไปวางเป็นเครื่องสักการะสถาบันพระมหากษัตริย์

5. พานดอกไม้สด
พานดอกไม้สด ต้องเตรียมไว้นำมาวางบนโต๊ะหมู่บูชา เพื่อเป็นเครื่องถวายสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9
จัดโต๊ะหมู่บูชา ร.9 วันที่ 5 ธันวาคม 2566 มีวิธีดังนี้
การจัดโต๊ะหมู่บูชาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ด้วยการประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ และเครื่องสักการะต่าง ๆ สามารถจัดได้หลากรูปแบบทั้ง โต๊ะหมู่บูชา 5, โต๊ะหมู่บูชา 7 และโต๊ะหมู่บูชา 9 โต๊ะขึ้นไป ซึ่งมีรูปแบบดังนี้

1. โต๊ะหมู่บูชา 5 โต๊ะ ถวายสักการะรัชกาลที่ 9
เริ่มต้นจากการนำพระบรมฉายาลักษณ์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ไว้ที่ฉากหลัง จากนั้นนำโต๊ะแถวกลาง 3 ตัว วางไล่ระดับกัน โต๊ะล่างสุดเป็นพานดอกไม้ โต๊ะตรงกลางเป็นพานดอกไม้ และโต๊ะบนสุดเป็นเครื่องทองน้อย
วางโต๊ะอีก 2 ตัวไว้ทางซ้ายและทางขวา จากนั้นให้วางพานพุ่มทองไว้โต๊ะด้านซ้าย และวางพานพุ่มเงินไว้โต๊ะด้านขวา

2. โต๊ะหมู่บูชา 7 โต๊ะ ถวายสักการะรัชกาลที่ 9
เริ่มต้นจากการนำพระบรมฉายาลักษณ์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ไว้ที่ฉากหลัง จากนั้นนำโต๊ะแถวกลาง 3 ตัว วางไล่ระดับกัน โต๊ะล่างสุดเป็นพานดอกไม้ โต๊ะตรงกลางเป็นพานดอกไม้
โต๊ะบนสุดเป็นเครื่องทองน้อย วางโต๊ะอีก 2 ตัว วางไล่ระดับกัน ไว้ทางซ้าย โต๊ะล่างสุดเป็นพานดอกไม้ โต๊ะสูงสุดวางพานพุ่มทอง สุดท้ายวางโต๊ะอีก 2 ตัว วางไล่ระดับกัน ไว้ทางขวา โต๊ะล่างสุดเป็นพานดอกไม้ โต๊ะสูงสุดวางพานพุ่มเงิน

3. โต๊ะหมู่บูชา 9 โต๊ะขึ้นไป ถวายสักการะรัชกาลที่ 9
เริ่มต้นจากการนำพระบรมฉายาลักษณ์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ไว้ที่ฉากหลัง จากนั้นนำโต๊ะแถวกลาง 2 ตัว วางไล่ระดับกัน โต๊ะล่างสุดเป็นเครื่องทองน้อย และโต๊ะบนสุดเป็นพานพุ่มดอกไม้ วางโต๊ะอีก 4 ตัว วางไล่ระดับกัน ไว้ที่ทั้งด้านซ้ายและขวา วางพานดอกไม้ตามความเหมาะสม
ส่วนโต๊ะริมสุดด้านนอกทั้งสองฝั่ง ให้วางโต๊ะด้านริมซ้าย 2 ตัว วางไล่ระดับกันโต๊ะล่างสุดวางพานดอกไม้ โต๊ะสูงสุดวางพานพุ่มทอง และวางโต๊ะด้านริมขวา 2 ตัว วางไล่ระดับกันโต๊ะล่างสุดวางพานดอกไม้ โต๊ะสูงสุดวางพานพุ่มเงิน

การจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 9 พร้อมเครื่องราชสักการะ เครื่องทองน้อย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ 5 ธันวาคม 2566 นั้น เป็นกิจกรรมที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเอกชน พร้อมใจกันจัดทำขึ้น เพื่อรำลึกถึงกษัตริย์ผู้ทรงอยู่ในหัวใจของปวงชนชาวไทยเสมอมา และรำลึกพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ของพระองค์ที่ทรงทำเพื่อชาวไทยมาตลอด 70 ปีในการครองราชย์
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- คำถวายพระพรวันพ่อ 2566 น้อมรำลึกถึงในหลวง ร.9 แม้จากไกล ใจยังผูกพัน
- ภาพวาดระบายสีวันพ่อ 2567 โหลดฟรี ชวนลูกทำการ์ดให้คุณพ่อ
ข้อมูลจาก : พระราชพิธี บรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒