ไลฟ์สไตล์

‘เด็ก 14 กราดยิง’ สะท้อนสุขภาพจิตเด็กไทย ที่ผู้ใหญ่ต้องเฝ้าระวัง

เหตุการณ์เด็ก 14 กราดยิงที่พารากอน ลือได้รับความกดดันจากพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตเด็กไทยน่าเป็นห่วงและช่องโหว่การรักษา แนะผู้ใหญ่ทุกคนไม่ควรมองข้าม

กลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่รื้อปัญหาใต้พรมของวงการเด็กและครอบครัวออกมาได้เกือบถึงรากถึงโคนเลยทีเดียว หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคาดว่าเหตุจูงใจเกิดจากการได้รับความกดดันจากพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก นำไปสู่พฤติกรรมรุนแรงที่ไม่มีใครรู้และควบคุมได้

พฤติการณ์อุกอาจตั้งแต่การพกพาอาวุธไปยังที่สาธารณะ มีปืนไว้ในครอบครอง และมุ่งเป้าไปหาแต่เหยื่อเพศหญิงจนเป็นที่ถกเถียงกันว่าทำไม “สุขภาพจิต” ของวัยรุ่นไทยถูกละเลยได้ถึงเพียงนี้ ผู้ปกครองควรหันมาตระหนักถึงความสำคัญและแก้ปัญหาสภาพจิตใจของเด็กตั้งแต่ต้นเหตุเสียที

เด็ก 14 กราดยิง สะท้อนสุขภาพจิตเด็กไทย ที่ผู้ใหญ่ต้องเฝ้าระวัง

สุขภาพจิตเด็กไทยน่าห่วง

ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถิติระบุว่า 1 ใน 7 ของวัยรุ่นไทยที่มีอายุตั้งแต่ 10 – 19 ปี มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ สอดคล้องกับผลการสำรวจสุขภาพจิตนักเรียนทั่วโลกในปี 2565 ที่ชี้ว่า 17.6% ของวัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 13 – 17 ปี มีความคิดฆ่าตัวตาย

สุขภาพจิตของเด็กไทยในปัจจุบันพบว่ามีโรคเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้าที่เกิดปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ความรุนแรง การถูกกลั่นแกล้ง ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน รวมถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยปัญหาดังกล่าวถูกซ่อนเร้นไว้ด้วยการตีตราจากสังคม การถูกเหมารวม การเข้าไม่ถึงข้อมูล การคัดกรองผู้ที่อาจมีภาวะ การสนับสนุนจากรัฐบาล ตลอดจนบริการด้านสุขภาพจิตที่ไม่ได้รับการยกระดับให้ดีพอ

ผลกระทบเมื่อเด็กมีภาวะกดดัน

ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ติดผิดจนก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงในระยะยาวต่อสุขภาพ การเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็นการจำกัดความสามารถของพวกเขาในการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ เมื่อเด็กที่มีสภาพจิตใจไม่พร้อมหรือไม่ได้รับการแนะนำสั่งสอนอย่างถูกต้องเท่าที่ควรอาจะทำให้พวกเขาตัดสินใจเดินเข้าสู่หนทางที่ผิดพลาดได้

จิตแพทย์เด็กขาดแคลน ช่องโหว่ปัญหาสุขภาพจิตเด็กไทย

ช่องโหว่ในการรักษาสุขภาพจิตเด็ก

ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยเป็นปัญหาที่ต้องรีบยกระดับอย่างเร่งด่วน แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นตั้งแต่นโยบาย กฎหมาย รวมทั้งบริการบำบัดรักษา แต่ก็ยังติดขัดในเรื่องสำคัญอย่างการขาดงบประมาณ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือเรามีจำนวนจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงพอต่อการเข้าไปดูแลเด็กในแต่ละหน่วยงาน

ปัจจุบันไทยขาดแคลน “จิตแพทย์เด็ก” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชที่ได้รับการฝึกฝนเรื่องการดูแลเด็กและเยาวชน มีเพียง 295 คนเท่านั้นต่อจำนวนเด็กที่มีปัญหาทั่วประเทศไทย โดยในจำนวนนี้มีจิตแพทย์ 111 คนกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ถูกกระจายไปรักษาที่ต่างจังหวัดอย่างทั่วถึง

ซ้ำร้ายบางจังหวัดไม่มีจิตแพทย์ที่คอยให้ความช่วยเหลือเด็กได้เลย ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถเข้ารับการรักษาจนนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตใจที่ไม่มีใครเยียวยาได้ ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีทางออก ไม่เห็นหนทางการรักษาเหมือนยืนอยู่บนปากเหวแห่งวิกฤตเมื่อไหร่ที่มีพวกเราถูกภาวะความกดดันเข้าไปกระตุ้นเพียงนิดเดียวก็ไม่มีภูมิต้านทานที่จะยืนหยัดอยู่ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : unicef

Peangaor

นักเขียนประจำ Thaiger จบการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มศว เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาชี้แจงแตกประเด็นในรูปแบบย่อยง่ายเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง รวมถึงเรื่อง Pop culture ซีรีส์ อาหาร และเทรนด์แฟชั่นที่กำลังอินเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ preme@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button