แมลงก้นกระดก สัตว์อันตรายมาพร้อมฤดูฝน แนะวิธีรับมือป้องกัน
ทำความรู้จัก แมลงก้นกระดก ภัยร้ายที่มาพร้อมฤดูฝน พร้อมวิธีป้องกันและรักษาหากถูกเล่นงานจากแมลงร้ายตัวนี้ รวมทั้งวิธีกำจัดไม่ให้มารบกวนหัวใจ
ทุกครั้งเมื่อฤดูฝนวนมาอีกครั้ง นอกจากปัญหาฝนตกจนเดินทางยากลำบาก ฝนตกหนักจนน้ำขัง น้ำท่วม หรือมีสัตว์มีพิษต่าง ๆ ออกมาเพ่นพ่านสร้างอันตรายแก่ผู้คน อีกหนึ่งปัญหาที่กวนใจใครหลาย ๆ คนไม่น้อยนั่นก็คือ แมลงก้นกระดก ที่หากไปสัมผัสตัวมันเข้า รับรองว่างานงอกอย่างแน่นอน
วันนี้ Thaiger จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับแมลงตัวร้ายชนิดนี้กันให้มากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อ่านมีความรู้ในการรับมือแมลงตัวจี๊ดไม่ให้ย่างกรายเข้ามาใกล้คุณได้
รู้จัก แมลงก้นกระดก ภัยร้ายที่มาพร้อมฤดูฝน
แมลงก้นกระดก หรือ ด้วงปีกสั้น หรือ ด้วงก้นงอน (Rove Beetle) เป็นด้วงขนาดเล็กประมาณ 7 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีสีดำ ปีกสีน้ำเงินเข้ม และส่วนท้องมีสีส้ม มีความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว และมักจะงอส่วนท้องส่ายขึ้นลงเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงมักเรียกว่า “แมลงก้นกระดก”
ด้วงชนิดนี้พบกระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 20 ชนิด ส่วนชนิดที่พบในประเทศไทยนั้น มักอาศัยอยู่บริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟ จะพบได้มากโดยเฉพาะในฤดูฝน
พิษสุดจี๊ดของแมลงก้นกระดก
มาที่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าแมลงก้นกระดกสร้างปัญหาให้มนุษย์อย่าง ๆ เราหลังไปสัมผัสมันเข้า นั่นคือพิษของเจ้าแมลงตัวจ้อยนี้นี่เอง โดยแมลงชนิดนี้สามารถปล่อยสารที่มีชื่อว่า พีเดอริน (Paederin) ออกมา สารชนิดนี้มีพิษทำลายเนื้อเยื่อ
ผู้ที่สัมผัสแมลงดังกล่าว จะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน คัน หากเกาบริเวณที่เป็นแผล พิษอาจกระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้ ในรายที่อาการหนัก อาจมีไข้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากเข้าตาอาจะทำให้ตาบอดได้ แผลหลังถูกพิษดังกล่าวส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นทางยาว อาจพบเป็นตุ่มใส หรือผิวหนังอักเสบ แต่อาการเหล่านี้จะหายได้เองภายใน 7-10 วัน
วิธีรักษาเมื่อสัมผัสแมลงก้นกระดก
หากใครเกิดพลาดพลั้งไปสัมผัส ปัด หรือบดขยี้แมลงก้นกระดกจนเกิดแผลไปแล้ว เรามาดูกันว่ามีวิธีรักษาแบบใดได้บ้าง
การรักษาด้วยตนเอง
- ล้างผิวหนังที่สัมผัสพิษแมลงก้นกระดก ด้วยสบู่
- ประคบเย็น บริเวณที่สัมผัสพิษแมลงก้นกระดก
- ทาว่านหางจระเข้ บริเวณที่สัมผัสพิษแมลงก้นกระดก
- รับประทานยาแก้แพ้
การรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ใช้ยาสเตียรอยด์ทาบริเวณผิวหนังที่สัมผัสพิษแมลงก้นกระดก
- ประคบด้วยน้ำเกลือบริเวณที่เป็นผื่น ตุ่มพองน้ำ วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที
- รับประทานยาแก้คัน เพื่อบรรเทาอาการคัน
- ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ
วิธีป้องกันแมลงก้นกระดก
การป้องกันแมลงตัวร้ายนี้มีหลากหลายวิธี เริ่มจากต้องปิดหน้าต่างและประตูให้สนิท เพื่อไม่ให้แมลงบินเข้ามาภายในที่พักอาศัยของเรา ไม่เปิดไฟทิ้งไว้ตอนกลางคืน เนื่องจากแมลงพวกนี้ชอบเล่นแสงไฟ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสแมลงก้นกระดก หากพบว่ามันมาเกาะบริเวณร่างกาย ให้ใช้การเป่าหรือสะบัดออก แทนการปัด หรือบดขยี้ ต่อมาคือการทำความสะอาดที่พักอยู่เสมอ โดยเฉพาะบนเตียงนอนของเรา
วิธีกำจัดแมลงก้นกระดก
วิธีการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้แมลงก้นกระดกมารบกวนใจของทุกคนได้นั้น สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ต่าง ๆ เช่น แหล่งน้ำ และพื้นดินชื้น
หากบ้านมีสนามหญ้า ควรตัดหญ้าให้สั้น รวมถึงลงปลูกดอกไพรีทรัมไว้บริเวณรอบบ้าน กลิ่นดอกไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติทำลายระบบประสาทของแมลง ทำให้แมลงก้นกระดกสลบหรือตายได้
ต่อมาคือการฉีดสเปรย์กำจัดแมลงสูตรไร้สารเคมีไว้บริเวณหลอดไฟ และรอบเตียงนอน สุดท้ายคือการนำถุงขยะไปทิ้งให้ห่างไกลจากตัวบ้าน เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารของแมลงก้นกระดก
ทั้งหมดคือข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับแมลงก้นกระดก คราวนี้ทุกคนน่าจะสามารถรับมือเจ้าแมลงร้ายตัวนี้ได้ไม่ยากแล้ว ย้ำกันอีกครั้งว่าหากเจอแมลงชนิดนี้มาเกาะตามลำตัวเรา ให้ใช้การเป่าและสะบัดแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่อาจก่อให้เกิดแผลตามมา ขอให้ทุกคนรอดปลอดภัยจากแมลงก้นกระดกกันทุกคนนะครับ