“พริษฐ์” ตั้งคำถาม จุดยืนยกเลิกเกณฑ์ทหาร “เศรษฐา” เปลี่ยนไป
“พริษฐ์” ตั้งคำถาม จุดยืนยกเลิกเกณฑ์ทหาร “เศรษฐา” เปลี่ยนไป ชี้ เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยตนเอง โดยไม่กระทบการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น
หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เรื่องการเกณฑ์ยกเลิกทหาร โดยนายเศรษฐาระบุว่า “เรื่องเกณฑ์ทหารสมัครใจ ผมไม่เคยบอกยกเลิก ผมไม่เข้าใจว่าคำว่ายกเลิกนี้หมายความว่าอะไร? ไม่ให้มีอีกแล้ว? ไม่ให้มีทหารอีกแล้ว? แล้วคนที่เกษียณไป ตายไป? หรือว่าจะให้กำลังกองทัพไม่มีเลย? ผมไม่ทราบ ผมไม่รู้ ใช่ไหมครับ แต่ถ้าเพื่อไทย (เรา) ชัดเจน ผมพูดตลอดทุกเวทีว่าเป็นเรื่องของการสมัครใจเกณฑ์ทหาร ให้พี่น้องมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพให้ได้ ใช่ไหมครับ?”
ล่าสุด วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2566 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความลงเพจเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu ถึงกรณีการยกเลิกเกณฑ์ทหาร หลังจากที่นายพริษฐ์ได้ทราบจุดยืนเรื่องนโยบายเกณฑ์ทหารของนายกฯ ตามบทสัมภาษณ์ข้างต้น
นายพริษฐ์ระบุว่า “หากคำพูดนี้ถูกกล่าวโดยคนที่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร ตนจะไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร และกลับรู้สึกว่า ตนต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดียิ่งขึ้นในการสร้างความเข้าใจเรื่องนโยบายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร และโน้มน้าวคนที่ยังไม่เห็นด้วยให้หันมาเห็นด้วย
แต่พอคำพูดนี้ถูกกล่าวโดยคนที่เป็นนายกฯ ซึ่งพูดถึงปัญหาของการเกณฑ์ทหารอยู่บ่อยครั้งก่อนการเลือกตั้ง ผมรู้สึกผิดหวัง เพราะนอกจากจุดยืนเชิงนโยบายที่ดูจะเปลี่ยนไปจากสิ่งที่เคยพูดไว้ก่อน แต่คำสัมภาษณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าท่านนายกฯ อาจจะยังไม่ได้เข้าใจถึงความหมายของปัญหาและนโยบายนี้อย่างเพียงพอ”
นอกจากนี้ พริษฐ์ได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ท่านนายกฯ ไม่เคยบอกยกเลิกเกณฑ์ทหารนั้นไม่เป็นความจริง ทั้งคำกล่าวที่ว่า การยกเลิกเกณฑ์ทหารเท่ากับการไม่มีทหารแล้วนั้น ก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน และการที่ท่านนายกฯ เลือกใช้คำว่า เกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ เป็นข้อความที่ย้อนแย้งในตัวเอง เนื่องจากคำว่า “เกณฑ์” หมายถึง “บังคับ” ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า “สมัครใจ”
พริษฐ์ยังได้กล่าวเสริมถึงแนวทางการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร 2 วิธี ได้แก่ วิธีที่ 1 เลิกแบบลุ้นปีต่อปี ผ่านการลดจำนวนยอดกำลังพลที่กองทัพขอในแต่ละปี และเพิ่มยอดสมัครใจในแต่ละปี เพื่อหวังให้ยอดสมัครใจสูงกว่ายอดกำลังพลที่ต้องการ จนทำให้ไม่ต้องเกณฑ์ใครในปีนั้น ๆ โดยไม่มีการแก้กฎหมาย
วิธีที่ 2 เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ ผ่านการแก้กฎหมาย พ.ร.บ. รับราชการทหาร 2497 เพื่อตัดอำนาจกองทัพในการบังคับคนมาเป็นทหารในยามที่ไม่มีสงคราม โดยพริษฐ์เชื่อว่า วิธีที่ 2 ไม่เพียงแต่จะให้ความชัดเจนกว่า แถมยังเพิ่มแรงกดดันให้กองทัพในการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารอย่างเร่งด่วนอีกด้วย
ในตอนท้ายพริษฐ์ระบุว่า ตนเข้าใจถึงบริบทของรัฐบาลผสมที่อาจต้องมีการประนีประนอมในเชิงนโยบายบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของนโยบายที่ต้องอาศัยมติ ครม. หรือต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมากที่ต้องแบ่งกันออกไปตามนโยบายของแต่ละพรรค แต่นโยบายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยไม่ควรจะต้องเปลี่ยนจุดยืน แม้ในบริบทของรัฐบาลผสม เพราะเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยตนเอง โดยไม่กระทบการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น
พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องเสนอเรื่องเข้าสภา เพราะพรรคก้าวไกลได้ยื่นเข้าสู่สภาฯ แล้ว และแม้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นอาจไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะสามารถได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ สส. ในชั้นรับหลักการ (วาระที่ 1) โดยหากพรรคเพื่อไทยเห็นต่างในบางรายละเอียด ก็สามารถไปเสนอแก้ไขต่อได้ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการและวาระที่ 2 ได้
บทสรุปของนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร ต้องรอติดตามกันต่อไปอีก ท่านใดที่ต้องการอ่านโพสต์ของคุณพริษฐ์ในประเด็นยกเลิกเกณฑ์ทหาร สามารถอ่านได้ที่เพจเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu