‘กำนัน’ ตำแหน่งนี้เป็นได้ยังไง ผู้นำชุมชนระดับตำบล แต่อิทธิพลกว้างขวาง
ตำแหน่ง ‘กำนัน‘ เป็นได้ยังไง มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ผู้นำชุมชนในระดับตำบลส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขชาวบ้าน แต่บางคนใช้อำนาจหาเส้นสายเอาประโยชน์เข้าตัวเอง
กลายเป็นข่าวสะเทือนขวัญวงการสีกากี ข้าราชการ เมื่อสารวัตรแบงค์ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว อายุ 32 ปี ถูกหน่อง ท่าผากระหน่ำยิงจนเสียชีวิตกลางงานเลี้ยงของ “กำนันนก คนดังนครปฐม” นำไปสู่การวิสามัญมือปืนในท้ายที่สุด ส่วนกำนันนกตอนนี้อยู่ระหว่างควบคุมตัว
ตามรายงานข่าวพบว่า กำนันนกจะจัดงานเลี้ยงเป็นประจำทุกเดือน มีตำรวจยศใหญ่มาร่วมงานอยู่สม่ำเสมอ งานครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 6 กันยายน 2566 มีข้าราชการตำรวจไปร่วมงานถึง 21 นาย รวมถึงผู้การนครปฐม
สังคมเกิดการตั้งคำถามครั้งใหญ่ว่าเหตุใดนายตำรวจยศใหญ่ถึงไปร่วมงานที่บ้านของผู้นำระดับชุมชน “กำนัน” แถมยังจัดงานเลี้ยงลักษณะนี้ทุกเดือน ซึ่งชนวนเหตุที่สารวัตรแบงค์ถูกยิง มีรายงานมาก่อนหน้านี้ว่าเป็นเพราะความตงฉิน ไม่ยอมใช้เส้นสายโยกย้ายตำแหน่งให้หลานกำนันนก
วันนี้ Thaige จึงขอพามาทำความรู้จักตำแหน่งกำนันว่าเป็นใคร ใครที่สามารถรับตำแหน่งนี้ได้บ้าง มาได้ยังไง
กำนัน ตำแหน่งผู้นำชุมชน มีที่มายังไง
ระบบการปกครองส่วนภูมิภาคประเทศไทย กำนันเป็นตำแหน่งผู้นำชุมชนในระดับตำบล มีหน้าที่ปกครองดูแลทุกข์สุขของประชาชนในตำบลนั้น ๆ
ตำแหน่งกำนันเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ. 2435 กำนันมาจากการเลือกตั้ง โดยผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนัน เดิมเป็นตำแหน่งตลอดชีพ แต่ปัจจุบันมีการแก้ไขกฎหมายให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ปัจจุบันมีคนดำรงตำแหน่งกำนันอยู่ 7,036 อัตรา
คุณสมบัติและคุณลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับเลือกเป็นกำนัน
อ้างอิงจากพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ มาตรา 30/1 ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นกำนันต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2. อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันรับเลือก
3. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำและมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในตำบลนั้นติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีจนถึงวันเลือกและเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน
4. เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
5. ไม่เป็นภิกษุสามเณรนักพรตหรือนักบวช
6. ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้วิกลจริตจิตฟั่นเฟือน
7. ไม่สมประกอบ ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
8. ไม่เป็นสมาชิกรัฐสภาสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใหญ่บ้านข้าราชการการเมืองข้าราชการประจำพนักงานเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือของรัฐวิสาหกิจหรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือลูกจ้างของส่วนราชการหรือลูกจ้างของเอกชนซึ่งมีหน้าที่ทำงานประจำ
9. ไม่เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเสียชื่อในทางพาลหรือทางทุจริตหรือเสื่อมเสียในทางศีลธรรม
10. ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออกปลดออกหรือไล่ออกจากราชการหน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะทุจริตต่อหน้าที่และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออกปลดออกหรือไล่ออก
11. ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิด
ที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันพ้นโทษ
12. ไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยป่าไม้กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ากฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติกฎหมายว่าด้วยศุลกากรกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนในฐานความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้กฎหมายว่าด้วยที่ดินในฐานความผิดเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งและกฎหมายว่าด้วยการพนันในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
13. ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรา๓๑ (๖) หรือ (๗) และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก
14. ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออกปลดออกหรือไล่ออกจากตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านแพทย์ประจำตำบลหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนและยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออกปลดออกหรือไล่ออก
15. มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับหรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับเว้นแต่ในท้องที่ใดไม่อาจเลือกผู้มีพื้นความรู้ดังกล่าวได้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเว้นหรือผ่อนผันได้
16. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างเสียสิทธิในกรณีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
อัปเดตเงินเดือนกำนัน 2566 ได้กี่บาท
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทย ปรับขึ้นเงินเดือน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ อีกคนละ 1,000 บาท
ส่งผลให้กำนันมีรายได้ต่อเดือน เงินตอบแทน 12,000 บาท/เดือน
กำนัน ตำแหน่งเล็กๆ แต่มีอิทธิพลมาก
กำนันบางรายใช้ตำแหน่งเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน มักใช้กลวิธีต่างๆ เช่น สร้างเส้นสายกับตำรวจในพื้นที่ สร้างอิทธิพล สร้างผลประโยชน์ให้กับธุรกิจตัวเอง เป็นต้น
การกระทำดังกล่าวถือเป็นการคอรัปชั่นรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ เป็นการเอาเปรียบประชาชน และเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของตำแหน่งกำนันในฐานะผู้นำชุมชน
ผลกระทบจากการคอรัปชั่นของกำนัน
การคอรัปชั่นของกำนันส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน เช่น
- ประชาชนอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกำนันเมื่อประสบปัญหา ในทางกลับกัน กำนันอาจใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อทำร้ายหรือกลั่นแกล้งประชาชน
- เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในตำบล เนื่องจากกำนันอาจใช้อิทธิพลเพื่อกดขี่ข่มเหงผู้อื่น
- เศรษฐกิจในตำบลอาจไม่เจริญก้าวหน้า เนื่องจากกำนันอาจใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตัวเองหรือพวกพ้อง กีดกันผู้ทำธุรกิจรายอื่นในประเภทเดียวกัน
- ประชาชนอาจไม่ไว้วางใจการทำงานของกำนัน ส่งผลให้งานในตำบลไม่มีประสิทธิภาพ
สรุปแล้ว ตำแหน่งกำนันเป็นผู้นำในส่วนปกครองท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชนในตำบลของตน ได้รับการเลือกตั้งทางลับมาจากผู้ใหญ่บ้าน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ด้วยฐานเงินเดือนเพียง หลัก 12,000 บาท ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงมีอาชีพหลักอื่นอีกทาง บางคนจึงใช้หน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตัวเองและพวกพ้อง
อ้างอิงข้อมูลบ้างส่วนจาก : กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย