ตอบแล้ว ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ จากพรรคเพื่อไทย ทำได้จริงไหม
ไขสงสัย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยนั้น ทำได้จริงหรือไม่ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คลายสงสัยให้แก่ประชาชน
จากข้อสงสัยของประชาชนถึงแนวทางความเป็นไปได้ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จากพรรคพื่อไทย ว่านโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ขัดต่อกฎหมายหรือไม่อย่างไร เนื่องจากประชาชนคาดการณ์ว่าอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยเหตุของกฎหมาย ล่าสุดทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ได้ตอบแล้วว่า “เรื่องเงินดิจิทัล ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดของนโยบาย คงต้องขอดูความชัดเจนก่อน”
สรุปว่านโยบาย “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” จะทำได้จริงหรือไม่ได้นั้น ก็ต้องตรวจสอบรายละเอียดการดำเนินการของนโยบายให้เรียบร้อยก่อน จึงยังไม่มีคำตอบว่าได้หรือไม่ได้อย่างชัดเจนในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม แนวทางการตอบคำถามดังกล่าวจากทางมุมมองของแบงก์ชาติล่าสุดนั้น ได้สอดคล้องกับสิ่งที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระบุว่า
“มุมมองของธปท. ที่มีต่อแนวทางนโยบายไม่เปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือ หากมีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย ก็จะต้องพยายามชี้แจงให้ชัดเจนและดูรูปแบบว่าเป็นอย่างไร ยืนยันว่าไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะทำไม่ได้”
นับเป็นช่วงเวลาอันยาวนานหลังการเลือกตั้งจบลง ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ประชาชนชาวไทยก็ได้ทราบกันแล้วว่า บุคคลที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยนั้น คือ นายเศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย
จากนั้นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นเป็นลำดับต่อมาและประชาชนหลาย ๆ คนกำลังให้ความสนใจถึงประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างมากนั่นก็คือ การตั้งคำถามถึงความไปได้ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่พรรคเพื่อไทยยึดเป็นนโนบายหลักสำหรับใช้ในการหาเสียง ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’
พร้อมทั้งอยากทราบรายละเอียดของรูปแบบการใข้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยเงินดิจิทัล ว่าหากนโยบายดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จริง ขอบเขตหรือรูปแบบของการใช้จ่ายแทนเงินสดนั้นเป็นอย่างไร
สำหรับรายละเอียดของนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถเช็กวิธีการรับเงิน คุณสมบัติการลงทะเบียน และรูปแบบวิธีการใช้จ่ายดังนี้
คุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ประชาชนไทย สัญชาติไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ‘ทุกคน’ จะได้รับ ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ (Digital Wallet)
- สำหรับกลุ่มผู้พิการ รวมถึงคนชรา ที่แต่เดิมได้รับสวัสดิการอื่น ๆ ก็จะได้รับ ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ (Digital Wallet) อย่างเต็มจำนวน
วิธีการรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ประชาชนชาวไทย ผู้ได้รับสิทธิ์ ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ (Digital Wallet) ทุกคน จะได้รับเงินอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องดำเนินการหรือปฏิบัติตามขั้นตอนการลงทะเบียนใด ๆ
รูปแบบการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท
- สามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค ในชีวิตประจำวันได้ทุกประเภท ยกเว้นสินค้าออนไลน์
- ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับสิ่งอบายมุขทั้งหลาย ไม่ว่าจะสารเสพติดทุกประเภท การพนัน
- ไม่สามารถนำไปใช้หนี้ได้
- ขอบเขตและระยะทางที่สามารถใช้เงินดิจิทัลได้คือ ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร โดยวัดจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
- เงินดิจิทัลมีระยะเวลาการใช้งานเพียง 6 เดือน นับจากวันแรกของการรับสิทธิ์ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการเงินดิจิทัลได้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 (หากนโยบายดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จริง)
- เงินดิจิทัลไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ เว้นแต่บุคคลคนนั้นเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ดำเนินการจดทะเบียนการค้าสมบูรณ์เสร็จสิ้น
สุดท้ายนี้ สำหรับคำถามที่ประชาชนหลาย ๆ คนสงสัยว่า ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ สามารถใช้จ่ายแทนบุคคลอื่น หรือมอบสิทธิ์ให้บุคคลอื่น ๆ และการแจกให้บุคคลอื่น ๆ ได้หรือไม่ เบื้องต้นยังไม่ทราบข้อจำกัดของรูปแบบการใช้เงินดิจิทัลที่แน่ชัดจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งยังคงต้องติดตามกันต่อไป ทั้งในส่วนของความเป็นไปได้ของนโนบายดังกล่าว รวมถึงรูปแบบหรือเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ข้อมูลจาก พรรคเพื่อไทย