ข่าวดาราบันเทิง

เปิดประวัติ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ อธิการบดีอินดี้ เจ้าของเพลง ‘เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)’

เปิดประวัติ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ อธิการบดีอินดี้ ที่มีผลงานเพลงดัง โดดเด่นด้านการบริหาร อดีตเจ้าของบริษัทโฆษณา และรายการโทรทัศน์ “ผู้หญิงวันนี้”

สืบเนื่องจากวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2566 เพชร โอสถานุเคราะห์ อดีตนักร้องชื่อดัง และอดีตผู้บริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อคืนวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีรายงานสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นโดยสันนิษฐานว่า เกิดจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน

จากข่าวการสุดสะเทือนใจดังกล่าว วันนี้ทีมงาน Thaiger จะพาทุกท่านมาเปิดประวัติเพชร ชายที่ขึ้นชื่อว่าอินดี้และรวย ดีกรีนักเรียนนอกที่มีความคิดสร้างสรรค์ และยังทำสื่อต่าง ๆ ทั้งนิตยสารสำหรับผู้หญิง และรายการโทรทัศน์ “ผู้หญิงวันนี้” ที่ใครหลาย ๆ น่าจะรู้จักเป็นอย่างดีค่ะ

ประวัติ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ อธิการบดีอินดี้ ใจรักความสร้างสรรค์

ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah

เพชร โอสถานุเคราะห์ หรือชื่อกำเนิดคือ อำพล โอสถานุเคราะห์ เกิดวันที่ 1 มกราคม 2503 (อายุ 63 ปี) ประวัติด้านครอบครัวของเขาถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเพชรเป็นบุตรชายของ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ (สกุลเดิม เธียรประสิทธิ์) ซึ่งปองทิพย์เป็นพี่สาวของสปัน เธียรประสิทธิ์ อดีตภรรยาของชรินทร์ นันทนาคร

โดยเพชรได้ศึกษาในระดับประถมศึกษาในประเทศไทย ก่อนจะไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังจากเรียนจบแล้ว ก็ได้กลับมาเรียนศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่พ่อของตนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่เรียนอยู่ได้เพียงแค่สองปีก็กลับไปเรียนด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นอิลินนอยส์ สหรัฐอเมริกาแทน

หลังจากศึกษาจบระดับอุดมศึกษา เพชรก็กลับมาช่วยงานกับทางครอบครัวอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนลงมือทำธุรกิจด้วยตนเอง โดยการจัดตั้งบริษัทโฆษณาคือ บริษัท สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง เนื่องด้วยตนเองมีพื้นฐานเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เพชรยังทำสื่อต่าง ๆ ทั้งนิตยสารสำหรับผู้หญิง และรายการโทรทัศน์ “ผู้หญิงวันนี้” อีกด้วย

ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah

ผลงานที่โดดเด่น ทั้งบทเพลง และการบริหารที่ก้าวหน้า

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เพชร เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนเดิม อีกทั้งยังมีความเป็นศิลปินในตัวเอง เพชรจึงได้ฝากผลงานเพลงที่มีชื่อเสียงไว้ในวงการเพลงมากมาย โดยเขามีผลงานการแต่งเพลงให้กับวงไมโครอย่างเพลง หมื่นฟาเรนไฮต์ ก่อนที่จะออกอัลบั้มชุดแรกเป็นของตนเอง คือ“ธรรมดา … มันเป็นเรื่องธรรมดา” ในปี 2530 โดยมีเพลงดังอย่าง ‘เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)’ อยู่ในอัลบั้ม อีกทั้งในปี 2550 เขาก็ได้ออกอัลบั้มเป็นชุดที่ 2 คือ “Let’s Talk About Love”

นอกจากอังบั้มแล้ว เพชรได้ปล่อยซิงเกิลคือเพลง “เราเป็นคนไทย (2553)”, “สันติภาพอยู่ไหน? (2553)” ทั้งยังมีเพลงประกอบภาพยนตร์ดังอย่างเรื่อง อินทรีแดง คือเพลง “ในคืนนี้” อีกด้วย ทั้งนี้ เพชรได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาตั้งใจจะออกอัลบั้มใหม่ทุก 20 ปี ซึ่งชุดที่ 3 คงออกตอนที่เพชร อายุ 80 ปี หากวันนั้นเขายังคงมีชีวิตอยู่

ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah

ประวัติด้านผลงาน นอกจากจะมีอัลบั้มเด่นและเพลงดังแล้ว เพชรยังมีผลงานด้านเขียนเรื่องสั้นและนิยาย อีกทั้งเขายังรักในงานศิลปะ ซึ่งมีชิ้นงานสะสมอยู่มากกว่า 600 ชิ้น โดยผลงานที่มักหยิบยกขึ้นมาโชว์บ่อยที่สุดคือ งานศิลปะภาพวาดของ Sarah Morris ศิลปินชาวอเมริกัน

ทั้งนี้ แม้ประวัติด้านผลงานเพลงหรือด้านสื่อต่าง ๆ จะมีความโดดเด่น แต่เพชรก็มีประวัติด้านผู้บริหารที่โดดเด่นไม่แพ้กัน เนื่องจากเขา ได้เข้ามาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และปรับโฉมให้มหาวิทยาลัยที่พ่อเป็นผู้ก่อตั้ง กลายเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ (Creative University) ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นผู้ที่หยิบยกการเรียนการสอนสาขาวิชาใหม่ ๆ เข้ามา เพื่อรับโลกยุคดิจิทัล พร้อมกับประกาศจุดยืนว่า “โลกเปลี่ยนการศึกษาต้องเปลี่ยน”

ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah

ในระหว่างที่ เพชรคุมทิศทางของมหาวิทยาลัยกรุงเทพอยู่นั้น ในปี 2558 เขาก็ต้องมารับหน้าที่สำคัญกับการเป็นรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจผู้ผลิตเครื่องดื่มชู M-150 ที่หลายคนต้องรู้จัก เนื่องจาก รัตน์ โอสถานุเคราะห์ น้องชายของเขา ขอลาออกจากตำแหน่งใหญ่เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

ทั้งนี้ เพชรซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของบริษัทโอสถสภา ได้ทำให้บริษัทเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เนื่องจากเพชรพาโอสถสภาก้าวออกจากธุรกิจครอบครัวจาก “ห้างขายยาเต๊กเฮงหยู” ที่เติบใหญ่เรื่อยมาตลอด 127 ปี สู่กิจการมหาชน โดยเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรกหรือไอพีโอ ไม่เกิน 506.75 ล้านหุ้น ในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 พร้อมกับความมุ่งมั่นขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาค และเชื่อมโยงจากเอเชียสู่ยุโรปและอเมริกา

ถึงกระนั้น เพชรก็ได้ลาออกจากตำแหน่งใหญ่ในบริษัทโอสถสภาไป เมื่อปี 2563 และนอกจากประวัติด้านการบริหาร ที่สามารถนำธุรกิจครอบครัวไปสู่กิจการมหาชนได้แล้ว เพชรยังมีประวัติด้านการเป็นส่วนหนึ่งของทีมบริหารในบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ อาทิ ประธานกรรมการ บริษัท ชิเซโด้ (ประเทศไทย) จำกัด, ประธานกรรมการ บริษัท ฮาคูโฮโด (กรุงเทพฯ) จำกัด เป็นต้น

ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah

จากประวัติด้านผลงานเพลงและการบริหารของเพชร ทั้งด้านการศึกษา และการประกอบธุรกิจที่มีความสร้างสรรค์ จนทำให้เกิดผลสำเร็จและเติบโตมานับไม่ถ้วน ทั้งนี้ เพชรยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 2 ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ (ท.ภ.) ใน พ.ศ. 2554 อีกด้วย

ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ฝากผลงานด้านต่าง ๆ ไว้มากมาย ทั้งผลงานเพลงที่มีชื่อเสียง ประวัติด้านการบริหารการศึกษา และการบริหารธุรกิจที่หลากหลาย แม้ในวันนี้ คุณเพชร โอสถานุเคราะห์ จะจากไป แต่ผลงานต่าง ๆ จะยังคงอยู่ไว้ตราบนานเท่านาน ทีมงาน Thaiger ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของครอบครัวคุณเพชรด้วยนะคะ

ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah
ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah
ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah
ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah
ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah
ภาพจาก Facebook : Petch Osathanugrah

กดติดตามเพจเฟซบุ๊ก Thaiger เพจใหม่ ไม่พลาดทุกข่าวสาร คลิกที่นี่

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button