‘พิธา’ โต้ ‘ชาดา’ หลังบอกให้เอาปืนยิงคนหมิ่น ยืนยันตนคุณสมบัติครบ

พิธา โต้ ชาดา หลังบอกให้เอาปืนยิงคนหมิ่น ยืนยันตนคุณสมบัติครบ ส่วนเรื่องบุคลิกกำลังพัฒนาอยู่ ให้เป็นคนที่รักษาคำพูด โดยเฉพาะเรื่องที่สัญญากับประชาชน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิงในระหว่างการประชุมสภา โหวตเลือกนายก ภายหลังจากที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ติติงบุคลิกของตน ติติงภาวะผู้นำของตน
นายพิธา กล่าวว่า ตนกำลังพัฒนาอยู่เหมือนกัน พยายามจะพัฒนาให้เป็นคนที่ฟังมากกว่าพูด ตนก็พัฒนาภาวะผู้นำของตนให้เป็นคนที่รักษาคำพูด เหมือนกับสโลแกนของพรรคภูมิใจไทยเป๊ะว่า “พูดแล้วทำ” เฉพาะสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนอย่างไรก็คงต้องทำตามอย่างนั้น
ถึงตนจะไม่เห็นด้วยกับทุกเรื่องกับที่นายชาดา พูดมา แต่ตนเห็นว่าท่านมีเสรีภาพที่จะพูด นี่คือหน้าที่ของรัฐสภา ที่นายชาดา ก็มีประสบการณ์แบบหนึ่ง มีความคิดแบบหนึ่ง ตนก็มีชุดความคิดและประสบการณ์แบบหนึ่ง นี่คือสาเหตุที่เราต้องใช้รัฐสภาในการแก้กฎหมายนิติบัญญัติ และข้อขัดแย้งตลอดมาของประเทศไทย นี่คือสิ่งที่ตนอยากเห็นตั้งแต่สมัยที่แล้ว สิ่งที่นายชาดาพูดถึงเรื่องของการลดโทษ มีการคุ้มครอง ซึ่งเวทีนี้เป็นเวทีเลือกนายกฯ ไม่ใช่เวทีในการแก้ไขกฎหมายใดๆ ฉะนั้นตรงนี้ตนคิดว่าเป็นบรรยากาศที่ดี
นายพิธากล่าวว่า เรื่องที่ตนเห็นด้วยกับนายชาดาคือ เรื่องที่ไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู 8 พรรค อย่างที่เข้าใจ เพราะเอ็มโอยู 8 พรรคคือ ความเข้าใจร่วมกันของพวกเราในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้ง 8 พรรคในการที่จะเข้าสู่อำนาจเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล แต่การไขกฎหมาย อยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และเมื่อเรายื่นเสนอข้อกฎหมายก็ไม่มีใครผูกขาด ชุดความคิดใดชุดความคิดหนึ่งก็ได้ คนที่อายุมากกว่าตนก็อาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง คนรุ่นตนก็อาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง คนที่อายุน้องกว่าตนก็อาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง
นี่คือหน้าที่ของสภาฯ ในการแก้ไขข้อขัดแย้ง ผู้แทนราษฎรก็คือผู้แทนราษฎร ที่มีความคิดแตกต่าง แล้วถ้าเราพูดกันอย่างมีวุฒิภาวะ พูดกันอย่างไม่มีคำหยาบคาย แล้วใช้เหตุให้ผลกัน นี่คือทางออกของประเทศในทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ตนเห็นด้วยกับนายชาดา มากเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยอาจจะเป็นข้อที่ยังคลางแคลงใจอยู่ คือเรื่องเกี่ยวกับศาลอาญาระะหว่างประเทศ หมายความว่าอาชญากรรมทางสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ข้อที่นายชาดา อาจจะกังวลคือข้อที่ 27 แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เป็นระบบเดียวกับเรา ระะบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มีอยู่123 ประเทศ
“ฉะนั้น ตรงนี้ถ้าเราเข้าใจว่าจริงแล้วพระองค์ท่านอยู่เหนือการเมือง และท่านทรงใช้อำนาจผ่าน ครม. อยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอย่างที่กล่าวหา ผมไม่เห็นด้วยอย่างแรง และการที่บอกว่าสิ่งที่น่ากลัวในการเข้าศาลอาญาระหว่างประเทศ คือ การที่มีคนพูดบอกว่าใครหมิ่นสถาบัน เอาปืนไปยิงมันเลย ผมไม่แน่ใจว่าคนที่สูญเสียไปตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิงเมื่อหลายปีก่อน 99 ศพ ที่ราชประสงค์ และย้อนหลังไปถึง 6 ตุลาฯ 14 ตุลา เป็นต้น ที่ยังไม่รู้ว่าวัฒนธรรมรับผิดรับชอบสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนอภิปรายเรื่องนี้ในสภาฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย” นายพิธากล่าว
ส่วนที่นายประพันธ์ คูณมี ส.ว. อีกคนที่มีการกล่าวพาดพิงนั้น ขอยืนยันกับสมาชิกรัฐสภา 750 คนว่า ตนยังมีคุณสมบัติสมบูรณ์แบบทุกประการและด้วยความชอบธรรม แม้ว่าจะเป็นกระบวนการที่ตนเองก็ยังไม่รู้เลยว่าข้อกล่าวหาคืออะไร ยังไม่รู้เลยว่าสงสัยในประเด็นไหน แล้วหลักการณ์ที่บอกว่าสมมุติฐานไว้ว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน ซึ่งเข้าใจว่าเพื่อนๆที่อยู่ในแวดวงทนาย ตุลาการ เข้าใจเรื่องนี้ดี มันมีศาลเตี้ยในรัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้ ตนยังไม่มีโดกาสชี้แจงแม้แต่ครั้งเดียว
“คราวที่แล้วปี 62 ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้กระทบการเลือกนายกฯรัฐมนตรี หากผมจำไม่ผิด มีคนบอกว่ารัฐบาลเสียงข้างมากที่รวมเสียงได้มากที่สุดก็จะออกมา 249 เสียง ก็เป็นตามนั้นไม่มีแตกแถว ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ไม่ต้องกังวล ที่ท่านบอกว่า ม.6 ขึ้นมหาวิทยาลัย เรื่องของวิญญูชน ผมรัดดกุมมาตลอด เกี่ยวกับการยื่น ป.ป.ช. รัดกุมมาตลอดเกี่ยวกับคุณสมบัติ สอบถามป.ป.ช.ทุกครั้งที่เป็นส.ส. ตั้งแต่ครั้งแรก จนครั้งนี้ และต่อไป เพราะผมยอมรับในการตรวจสอบ ก็ยังดีกว่าบางคนที่ไม่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นป.ป.ช.หรือ กกต.” นายพิธากล่าว