ข่าวข่าวการเมือง

ย้อนเส้นทางการเมือง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ตั้งแต่วันรัฐประหาร ถึงวันลาออกจากการเมือง

เป็นเวลากว่า 9 ปีเศษ สำหรับ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย ที่ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีดูแลประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง ทว่าล่าสุด (11 ก.ค. 66) ได้ออกมาประกาศผ่านโซเชียลของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ตนสังกัดอยู่ว่าขอวางมือจากงานการเมือง โดยจะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

วันนี้เดอะไทยเกอร์ไม่รอช้า ขอพาทุกคนไปเปิดเส้นทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ นายกสายทหารที่เริ่มหันหน้าเข้าสู่การเมืองผ่านวิธีการรัฐประหาร กระทั่งวันที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากการถูกโหวตเลือกโดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก่อนที่สุดท้ายแล้วจะแพ้เลือกตั้งให้กับพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างก้าวไกล นายทหารคนนี้ผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะก้าวถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต ไปติดตามอ่านพร้อม ๆ กันได้เลย

Advertisements

ย้อนไทม์ไลน์ ประวัติทางการเมือง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ จากนายทหารสู่นักการเมือง ล่าสุดประกาศวางมือ

พล.อ.ประยุทธ์ กับสู่เส้นทางการเมืองผ่านรัฐประหาร 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หันเหชีวิตเข้าสู่ทิศทางการเมืองไทย ผ่านการทำรัฐประหารคณะรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้พลเอกประยุทธ์ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศสมัยแรกของพลเอกประยุทธ์

เส้นทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภาพจาก : ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha

พลเอกประยุทธ์ กับตำแหน่งนายกที่มาจากการเลือกตั้ง 2562

หลังจากดำรงตนเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนมายาวนานถึง 5 ปี ในที่สุดวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ที่ขณะนั้นสังกัดพรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งคณะรัฐบาลผสมรวมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ กระทั่งในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ได้โหวตเลือกให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามเดิม

เส้นทางการเมืองประยุทธ์จันทร์โอชา
ภาพจาก : ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha

พลเอกประยุทธ์ยุบสภา เดินหน้าต่อในฐานะนักการเมืองพรรครวมไทยสร้างชาติ

Advertisements

ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ด้านพลเอกประยุทธ์ไม่ยอมแพ้ กลับเข้าสู้ศึกเลือกตั้งในสังกัดพรรคใหม่คือพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เดินหน้าหาเสียงอย่างต่อเนื่อง โดยมีตนเองเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

เส้นทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภาพจาก : ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha

พล.อ.ประยุทธ์ แพ้เลือกตั้ง 2566 ราบคาบ มีที่นั่งในสภาเพียง 36 ที่นั่ง

หลังจากผ่านพ้นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 14 พฤษภาคม 2566 ผลปรากฏว่าพรรครวมไทยสร้างชาติที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนเสียงไปเพียง 4,766,408 คะแนน ในขณะที่พรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกลได้คะแนนมากถึง 14,438,851 คะแนน

เส้นทางการเมืองประยุทธ์จันทร์โอชา
ภาพจาก : ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha

ประยุทธ์ประกาศวางมือการเมือง “ลาออก” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ

ล่าสุดวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 หลังผ่านพ้นวันเลือกประธานและรองประธานสภามาได้ไม่นาน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้เขียนจดหมายประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอวางมือจากการเมือง ผ่านทางเฟซบุ๊กของพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมขอให้ประชาชนชาวไทยวางใจในการทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไปแม้จะปราศจากตนเองแล้วก็ตาม

เส้นทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภาพจาก : ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha

เรียกได้ว่าเป็นข่าวที่น่าใจหายอย่างมากสำหรับแฟนคลับของพลเอกประยุทธ์ ที่จะไม่ได้เห็นภาพนายทหารคนนี้โลดแล่นในบทบาทนักการเมืองอีกต่อไปแล้ว อย่างไรก็ดีแม้จะไร้เงาของพลเอกประยุทธ์ แต่ทางพรรครวมไทยสร้างชาติก็ยังคงต้องก้าวเดินกันต่อไป และทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สมราคาคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกมา

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button