ประวัติ ‘พระเขี้ยวแก้ว’ ตำนานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของคู่บุญประเทศศรีลังกา
ประเทศศรีลังกาขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับพระพุทธศานาอย่างมาก โดยรัฐบาลศรีลังกาถือเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และคุณสมบัติของผู้นำประเทศจะต้องนับถือศาสนาพุทธด้วยเช่นกัน เหตุนี้เองจึงทำให้เหล่าชาวศรีลังกาให้ความสำคัญกับ “พระเขี้ยวแก้ว” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอย่างมาก เพราะเชื่อกันว่าเป็น 1 ใน 2 องค์พระธาตุที่ปรากฏอยู่ในมนุษยภูมิ
สำหรับพระเขี้ยวแก้วนั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีทัลฒามัลลิกาววิหาร เมืองกัณฏิ หรือ เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปีจะมีการจัดพิธีแห่อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปรอบเมืองเพื่อนำพาสิริมงคลมาสู่ถิ่นที่อยู่ ซึ่งในการแห่นี้จะต้องใช้ช้างพลายที่มีงาสวยลักษณะอุ้มบาตร
จึงเป็นเหตุให้ช้างไทย 3 เชือกถูกส่งไปที่ประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรี โดยช้างเชือกแรกถูกส่งไปเมื่อปี พ.ศ. 2522 คือพลายประตูผา ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ช้างไทยถูกส่งไปอีก 2 เชือก ได้แก่ พลายศักดิ์สุรินทร์ และพลายศรีณรงค์ และช้างทุกตัวที่ส่งไปยังประเทศศรีลังกานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในพิธีอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ทำให้เห็นว่าชาวศรีลังกาให้ความเคาพพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
ตำนาน ‘พระเขี้ยวแก้ว’ พระบรมสารีริกธาตุ ศูนย์รวมใจชาวพุทธศรีลังกา
สำหรับ “พระเขี้ยวแก้ว” หรือ พระทาฐธาตุ (พระทันตธาตุ) คือเขี้ยวของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (พระโคตมพุทธเจ้า) ถือเป็นหนึ่งในพระบรมสารีริกธาติที่ไม่แยกกระจัดกระจาย มีองค์รวมกันแน่นลักษณะเนื้อแข็งแรง โดยตามตำนานแล้วเชื่อว่ามีพระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ ประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ ดังนี้
1. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
2. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)
3. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ แล้วเชื่อว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน (ซีอาน) ประเทศจีน โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง
4. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค
จากตำนานความเชื่อนั้น จะเห็นได้ว่ามีพระเขี้ยวแก้วประดิษฐานอยู่ในภพมนุษย์ 2 องค์ โดยพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ประดิษฐาณ ณ เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกานั้น มีประวัติความเป็นมาเล่าว่า เมื่อครั้งที่แคว้นกาลิงกะเกิดศึก จ้าหญิงเหมมาลากับเจ้าชายทันตกุมาร ปลอมพระองค์เป็นพราหมณ์ หวังซ่อนพระเขี้ยวแก้วหนีมายังเกาะลังกา ซึ่งพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ก็ไม่เคยออกนอกพื้นที่ประเทศศรีลังกาอีกเลย
แม้ประเทศศรีลังกาจะเผชิญภัยศึกสงคราม หรือตกเป็นเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคม แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระพุทธศาสนาสูญหาย โดยทุกวันนี้ยังคงมีชาวศรีลังกากว่า 75% นับถือพระพุทธศานาอย่างเหนียวแน่น เป็นศาสนาที่หยั่งรากลึกในจิตใจของชาวศรีลังกาเช่นเดียวกับหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่ถูกนำมาปลูกไว้ตั้งแต่เมื่อ 2,300 ปีก่อน