ข่าวภูมิภาค

สบทช. 9 เดินหน้าพร้อมประสานเรือนำเที่ยว ชาวประมง แจ้งเบาะแสฉลามวาฬ

วันนี้ ( 22 พ.ค. ) นายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (สบทช. 9) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำเรือตรวจการณ์ เรือตรวจการณ์ทรัพยากร 308 ของ สบทช.9 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ออกติดตามค้นหาฉลามวาฬ ซึ่งถูกเรือประมงแสงสมุทร 3 ปล่อยลงทะเล หลังจากติดอวนและจับขึ้นมาบนเรือเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา
โดยวันนี้ เป็นการออกค้นหาติดตามตรวจสอบ ฉลามวาฬ และ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเรือท่องเที่ยว เรือประมง และ เรือประมงพื้นบ้าน ให้ช่วยตรวจสอบและติดตาม หากพบฉลามวาฬ ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ หรือ ตายแล้ว ขอให้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่ สบทช.9 เพื่อเข้าตรวจสอบ ซึ่งในการออกสำรวจและประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้ยังคงเน้นพื้นที่รัศมี 23 กิโลเมตร เช่น เกาะเฮ เกาะบอน เกาะแก้วนอก เกาะแก้วใน จากจุดที่ถูกปล่อยลงทะเล ซึ่งการค้นหายังคงไร้วี่แวว
สำหรับการติดตามค้นหาฉลามวาฬตัวดังกล่าว จะดำเนินการค้นหาไปอีกระยะหนึ่ง เพราะสุดท้ายถ้าฉลามวาฬตาย ซากก็จะลอยขึ้นบนผิวน้ำ และจะไหลไปตามกระแสน้ำตาม แต่ถ้าโชคดีฉลามไม่ตาย และ ไม่ได้รับบาดเจ็บ เชื่อว่าจะต้องกลับมาหากินที่เดิม ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่บริเวณปากร่องน้ำใกล้กับเกาะราชา อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ขณะที่นายนิรันดร์ หยังปาน ชาวไทยใหม่ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า จากประสบการในการทำประมงเชื่อว่า ฉลามวาฬตัวดังกล่าวน่าจะเป็นฉลามวาฬที่เคยมีคนพบเห็นบริเวณใกล้กับเกาะราชา ที่เข้ามาหากินเกือบทุกปี ซึ่งชาวประมงและนักท่องเที่ยวทราบดี อย่างไรก็ตามจากการดูคลิปเชื่อว่าโอกาสรอดของฉลามมีน้อยมาก เพราะเท่าที่ทราบฉลามเป็นสัตว์ที่มีกระดูกก่อน แต่เมื่อยกตัวขึ้นไปในอากาศ และ ปล่อยให้ส่วนลำตัวแบกรับน้ำหนัก อาจจะทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสได้
สำหรับการค้นหาฉลามวาฬตัวดังกล่าว เชื่อว่าถ้าได้รับบาดเจ็บหรือตาย ร่างของเขาก็จะไหลไปกับกระเสน้ำ ซึ่งในส่วนของตนก็ได้แจ้งไปยังชาวประมงพื้นบ้าน และชาวไทยใหม่ให้ช่วยกันตรวจสอบ และให้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องถ้าพบไม่ว่าจะเป็นซากหรือตัวเป็นๆ โดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าฉลามตายไม่น่าจะถูกคลื่นซัดไปไกลมากนัก เพราะจากการดูกระแสน้ำในช่วงนี้พบว่ากระแสน้ำจะพัดไปจบที่เกาะเฮ และเกาะแอว มีความเป็นไปได้ยากที่จะไหลไปไกลๆ
ด้านเจ้าหน้าที่จากกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กล่าวว่า จากการตรวจสอบคลิปเชื่อว่าฉลามไม่ได้อยู่บนเรือเพียงแค่ 10 นาที แน่นอน เพราะจากจุดตำแหน่งที่เรือนักดำน้ำไปเจอในเวลา 13.40 น. ของวันที่ 18 พ.ค. และมีการไล่ตามกันไปเนื่องจากเรือประมงพยายามแล่นหลบและเปลี่ยนทิศทางการวิ่งก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที จึงจะมีการปล่อย หรือ ทิ้ง ลงทะเล ซึ่งการปล่อยหรือทิ้งลงทะเล ถ้าได้รับบาดเจ็บก็อาจจะไม่ตายทันทีแต่อาจจะใช้เวลาเป็นวัน หรือ 2 วัน จึงจะตาย เพราะฉะนั้นการค้นหาจึงต้องใช้เวลาในการติดตามค้นหา 4 -5 วัน เพราะถ้าตายก็จะใช้เวลาประมาณ 4 – 5 วัน ถึงจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ แต่ถ้าไม่เจอซากก็อาจจะเชื่อได้ว่ายังไม่ตาย
ขณะที่ ถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเล และ ชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2 / 2561 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม ภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีนายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (สบทช. 9) และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ถึง การวางมาตรการป้องกัน การทำร้ายสัตว์ทะเลหายาก จากเครื่องมือการทำประมง ว่า
อยากให้มีการกำหนดมาตรการออกมาในระดับจังหวัดในการควบคุมดูแลไม่ให้สัตว์ทะเลหายากถูกทำร้ายจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามจากเรือประมงต่างๆ เพราะที่ผ่านมาพบว่าสัตว์ทะเลหายากตายและได้รับบาดเจ็บจากเรือประมงมาแล้วจำนวนมาก ซึ่งหลังจากนี้ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่างมาตรการเพื่อควบคุมและคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากไม่ได้ถูกทำร้าย หรือจับขึ้นมาบนเรืออย่างเด็ดขาด และว่าจะติดอวนขึ้นมาก็ตาม
โดยให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด ในการกำหนดมาตรการ หลังจากนั้นให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำเสนอในคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป และอยากให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุดเพื่อรักษาสัตว์ทะเลหายากให้อยู่คู่กับทะเลไทยตลอดไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button