ไลฟ์สไตล์

วิธีตรวจเช็กสภาพ ‘ถังดับเพลิง’ ก่อนใช้งาน ป้องกันอันตรายจากการระเบิด

เตรียมพร้อมรับมือรอบด้าน วิธีเช็กถังดับเพลิง ดูให้แน่ใจก่อนใช้ว่าไม่เสี่ยงระเบิด ไม่เช่นนั้นถังดับเพลิงที่ใช้เพื่อช่วยชีวิตเรา ยามเกิดเหตุไฟไหม้ – ฉุกเฉิน อาจเป็นอาวุธที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วันนี้ Thaiger มาบอกเล่าสาระเกี่ยวกับ ถังดับเพลิง อุปกรณ์ฉุกเฉินในยามเกิดเหตุไฟไหม้ ซึ่งมักมีจะมีอยู่ทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งบนรถสาธารณะ แม้ถังดับเพลิงจะเป็นอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือ แต่หากไม่ดูแลให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานได้เช่นกัน เพราะจำนวนแก๊สที่อัดแน่นภายในนั้น เสี่ยงต่อการระเบิดได้

อยากปลอดภัยตลอดการใช้งาน อย่าชะล่าใจเด็ดขาด ไปเตรียมดูวิธีตรวจสภาพถังดับเพลิงไปพร้อมกันเลย ณ บัดนี้

วิธีเช็กถังดับเพลิง ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

ถังดับเพลิง โดยทั่วไปจะประกอบด้วย สลักล็อก, คันบังคับ, เกจ์วัดแรงดัน, สายฉีด และตัวถัง ซึ่งทุกส่วนของถังควรได้รับการเช็กสภาพเป็นประจำทุกเดือน หรืออย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน หากพบความผิดปกติหรือการชำรุด ควรรีบแก้ไขโดยทันที

ถังดับเพลิงมีหลายประเภท แตกต่างไปตามชนิดของสารเคมีที่บรรจุไว้ภายใน ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2, น้ำยาเหลวระเหย, ผงเคมีแห้ง, โฟม และถังดับเพลิงสูตรน้ำ

โดยการตรวจสอบความพร้อมในการใช้งานของตัวถังดับเพลิง มีข้อควรสังเกตดังนี้

1. คันบังคับ ควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่หัก ไม่งอ ไม่ชำรุด ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถใช้งานถังดับเพลิงได้เลย เพราะคันบีบเป็นอุปกรณ์สำหรับกด เพื่อนำสารเคมีภายในตัวถังออกมาใช้ดับไฟ

2. สลักล็อก สังเกตว่าสลักล็อกและซีลยังถูกล็อกอยู่ที่ตัวคันบีบ หากยังอยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาด แสดงว่าถังยังไม่เคยถูกเปิดใช้มาก่อน และมีสารเคมีบรรจุไว้ภายใน พร้อมใช้งานได้ทันที

วิธีเช็กถังดับเพลิงก่อนใช้งาน

3. เกจ์วัดแรงดัน ตรวจสอบว่าเข็มบนหน้าปัดชี้ไปที่สีเขียวเท่านั้น หากใช่ แสดงว่าถังดับเพลิงนี้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เพราะเกจ์เป็นเครื่องตรวจสอบมาตรวัดแรงดัน หากเข็มชี้ไปในบริเวณสีแดง แสดงว่าถังดับเพลิงนั้นไม่สามารถใช้งานได้ โดยมี 2 กรณี ดังนี้

  • เข็มเกจ์ชี้ไปทางซ้าย หรือ Recharge แสดงว่า ถังมีแรงดันต่ำ หากต้องการใช้งานควรไปเติมแก๊สและเช็กแรงดันอีกครั้ง
  • เข็มเกจ์ชี้ไปทางขวา หรือ Overcharge แสดงว่า ถังมีแรงดันสูงผิดปกติ หากเจอถังดับเพลิงที่มีสภาพเช่นนี้ ควรรีบนำไปตรวจสอบโดยเร็ว เพราะเสี่ยงต่อการระเบิดอย่างมาก

4. สายฉีด และ หัวฉีด ตัวสายควรอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ไม่มีรอยแตก ฉีก หรือขาด มิเช่นนั้นแล้วสารเคมีอาจเกิดการรั่วซึมออกมาเมื่อใช้งานถัง ส่วนหัวฉีดควรตรวจสอบให้อยู่ในสภาพสะอาดเสมอ ไม่มีการอุดตันของฝุ่นหรือแมลงบริเวณหัวฉีด

วิธีเช็กถังดับเพลิง

5. สภาพตัวถัง ไม่ควรมีรอยบุบ รั่ว บวม หรือเป็นสนิม นอกจากนี้ยังควรดูอายุการใช้งานของถังด้วย โดยถังดับเพลิงสีแดงจะบรรจุผงเคมีแห้ง ใช้งานได้ประมาณ 3 – 5 ปี ส่วนถังดับเพลิงสีเขียว จะบรรจุสารสะอาด หรือ Non-CFC และเคมีน้ำ โดยมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 8 – 10 ปี

อีกกรณีคือ ถังดับเพลิงที่ใช้เป็นชนิด CO2 ไม่มีเกจ์วัดแรงดัน หากต้องการตรวจสอบความพร้อมในการใช้งาน วิธีง่าย ๆ คือ นำถังดับเพลิงไปชั่งน้ำหนัก แล้วนำน้ำหนักมาเทียบกับน้ำหนักเดิมที่ระบุอยู่บนถังนั่นเอง

ข้อควรระวังในการตั้งถังดับเพลิง

ถังดับเพลิงบรรจุแก๊สไว้ภายใน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาตำแหน่งวางถังดับเพลิงให้ดี เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานถัง

1. ไม่นำถังดับเพลิงไปติดตั้งในที่ที่ร้อนจัด รวมถึงที่ที่มีความชื้นสูง เพราะอุณหภูมิอาจส่งผลต่อการรั่วซึมของสารเคมีในถังได้

2. วางถังดับเพลิงในบริเวณที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง ง่ายต่อการนำมาใช้งานเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น และติดป้ายระบุตำแหน่งที่ชัดเจน

3. ไม่ควรติดตั้งถังดับเพลิง 2 ถังในบริเวณใกล้กันเป็นอันขาด ควรมีระยะห่างระหว่างถังประมาณ 20 เมตร รวมถึงระดับความสูงของถังควรติดตั้งให้อยู่สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร

วิธีเช็กถังดับเพลิงก่อนใช้งาน

วิธีการใช้ถังดับเพลิง

หลังจากรู้วิธีตรวจสอบสภาพถังดับเพลิงก่อนใช้งาน ก็มาถึงขั้นตอนการใช้ถังดับเพลิง ส่วนใหญ่ถังจะมีน้ำหนักมากกว่า 10 กิโลกรัมขึ้นไป ดังนั้นผู้ที่ใช้งานถังควรระวังและคำนึงถึงน้ำหนักเมื่อยกถังดับเพลิงออกมาใช้งานด้วย โดยวิธีใช้งานถังดับเพลิงเพื่อดับไฟมีดังนี้

1.จับทิศทางลม โดยให้อยู่ในทิศทางเหนือลม (ทิศที่ลมจะพัดสารเคมีเข้าหาไฟ) และให้ห่างจากเปลวไฟประมาณ 2 – 3 เมตร

2. ดึงสลักล็อกออก

3. ยกหัวฉีดไปที่ฐานของกองไฟ โดยทำมุมประมาณ 45 องศา ขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับตำแหน่งของไฟ

4. กดคันบังคับเพื่อให้แก๊สที่บรรจุภายในพุ่งออกมา โดยบังคับหัวฉีดให้หันไปมาช้า ๆ ในแนวนอน

5. ฉีดต่อไปจนกว่าจะแน่ใจว่าเปลวไฟดับสนิทแล้ว

ถังดับเพลิงระเบิดเกิดจากสาเหตุใดบ้าง

สาเหตุที่เสี่ยงทำให้ถังดับเพลิงระเบิดมีดังนี้

1. บรรจุแก๊สเข้าไปในถังเกิน 1800 PSI หรือ 126 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ทำให้ถังมีแรงดันสูงผิดปกติ โดยสังเกตได้จากเข็มเกจ์บนตัวถังชี้ไปทางขวา หรือ พื้นที่สีแดงที่มีข้อความว่า Overcharge

2. การวางถังไว้ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง อาจส่งผลต่อแรงดันในถังได้

3. นำถังดับเพลิงเก่ามาใช้งาน หากตัวถังดับเพลิงขึ้นสนิม หรือมีรอยบวม เสี่ยงทำให้เกิดระเบิดได้ หากตัวถังภายนอกไม่สามารถทนต่อแรงดันจากภายใน ก็จะทำให้ถังเกิดการฉีกขาดและระเบิดได้

ทั้งหมดนี้คือเกร็ดความรู้เรื่องการใช้งานถังดับเพลิง และ การตรวจเช็กสภาพความพร้อมใช้งานของถัง โดยควรตรวจสอบถังดับเพลิงเป็นประจำ หากตัวถังบวม หรือเกจ์วัดความดันสูงผิดปกติ ก็ควรนำไปแก้ไขทันที เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดระเบิดและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน หากรุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เลยนั่นเอง

วิธีเช็กถังดับเพลิง

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button