รู้จักอาการ ‘หัวใจอักเสบ’ ทำ ‘เอส กันตพงศ์’ นอนยาวนับเดือน
หลังจากที่ เอส กันตพงศ์ บำรุงรักษ์ วูบหมดสติบนเวที Big Debate เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา และสลบไปนานเป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้ว ล่าสุดทางครอบครัวได้จัดแถลงอาการของเอสแล้วว่า เป็นอาการ หัวใจอักเสบ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน นั่นเอง และตอนนี้เอสได้ฟื้นแล้ว และอาการก็ไม่น่าเป็นห่วง
เห็นแบบนี้หลายคนคงกังวลว่า อาการหัวใจอักเสบนี้น่ากลัวแค่ไหน เป็นได้ง่ายหรือไม่ สาเหตุเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันคืออะไร ทีมงาน Thaiger มาสรุปรวบไว้แล้วที่นี่
เปิดอาการ หัวใจอักเสบ แข็งแรงจากไหน ก็มีโอกาสเป็นกันได้
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Myocarditis) คือ หัวใจเกิดการอักเสบ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ทำงานได้ลดลง จนเกิดความผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือรุนแรงในระดับที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันหัวใจ หัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลวได้เลยทีเดียว
โดยส่วนมาก อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมักเกี่ยวข้องกับเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบด้วย
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดจากอะไร
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการได้รับเชื้อไวรัส ยาบางชนิด รังสี สารเคมี ดังนี้
- ติดเชื้อไวรัส เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจอักเสบ ไวรัสต้นเหตุที่พบบ่อย เช่น พาร์โวไวรัส, ไวรัสเอชไอวี, อะดีโนไวรัส, คอกซากีไวรัส เป็นต้น
- ติดเชื้ออื่น ๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อราบางชนิด โปรโตซัว เป็นต้น
- ได้รับยา เช่น ยากันชัก ยาเคมีบำบัด ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาซัลฟา หรือ ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เป็นต้น
- ได้รับรังสี หรือสารเคมี เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ สารตะกั่ว เป็นต้น
- โรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น SLE SLD ทากายาสุ รูมาทอยด์ เป็นต้น
- ผู้ป่วยมีการใช้สารเสพติด เช่น โคเคน
- ติดเชื้อ Covid-19 มีข้อมูลวิจัยชี้ว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากการติดเชื้อ Covid-19 มีมากถึง 7 – 10% เลยทีเดียว
อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
สำหรับอาการของผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะค่อนข้างคล้ายกับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่
- เจ็บหน้าอก รู้สึกเหมือนมีของมีคมมาแทง
- หายใจลำบาก ทำให้หายใจถี่และสั้นขึ้น เสียงหัวใจทึบ
- ไข้ วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม อ่อนแรง
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- อาการอื่น ๆ เช่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บคอ เป็นต้น
ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบว่ามีอาการเซื่องซึม กระวนกระวาย ตัวซีด เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ตัวเขียวได้อีกด้วย
วิธีการรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ในผู้ป่วยบางรายอาจหายเองได้ หรืออาการดีขึ้นโดยไม่ต้องรักษา แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการแต่ละคนด้วย โดยส่วนใหญ่มักใช้ยาในการรักษาหัวใจอักเสบ เช่น ยายับยั้งเอซีอี ยาต้านเบต้า ยาขับปัสสาวะ หรือฉีดยาทางหลอดเลือดดำ ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาต่อเนื่องหลายเดือนหรือตลอดไปขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า เครื่องช่วยพยุงหัวใจ เครื่องช่วยการไหลเวียนเลือด ไปจนถึงการปลูกถ่ายหัวใจ
วิธีป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุก็ตามที ทุกช่วงอายุมีเกณฑ์เกิดอาการหัวใจอักเสบได้หมด
โดยวิธีในการลดความเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน มีดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทำจิตใจให้ไม่เครียด
- หลีกเลี่ยงไม่สัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส รวมถึงสารเคมี รังสี และสารเสพติดทุกชนิด
- หมั่นฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นประจำ เช่น ไข้หวัดใหญ่ คอตีบ หัดเยอรมัน
จะเห็นได้ว่าในกรณีของ เอส กันตพงศ์ แม้จะเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงและออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้หัวใจอักเสบได้ ทั้งความเครียดรวมถึงการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติกับร่างกาย ไม่ควรนิ่งนอนใจ หมั่นสังเกตตัวเองให้ดี เพราะอาการเล็ก ๆ อาจเป็นสาเหตุให้ร่างกายของคุณพบกับความผิดปกติใหญ่ได้