‘แผ่นดินไหว’ เกิดจากอะไร? ไขข้อสงสัย เปิดสาเหตุของธรณีภัยพิบัติ
สืบเนื่องจากกรณีเกิดเหตุ “แผ่นดินไหว” ขนาด 6.0 ความลึก 10 กิโลเมตร ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบสะเทือนไกลถึงพื้นที่บริเวณจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานครประเทศไทย ในช่วงเช้าของวันที่ 19 มิถุนายน 2566 โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้มีสาเหตุมาจากรอยเลื่อนสะกาย ในบริเวณประเทศเมียนมา ที่มีลักษณะการเลื่อนตัวตามแนวระนาบ (strike slip fault)
เนื่องจากกรุงเทพมหานคร รองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกล จะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่า ส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ได้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย
สาเหตุของ ‘แผ่นดินไหว’ เกิดจากอะไรได้บ้าง?
สำหรับลักษณะของภัยพิบัติที่เรียกว่าแผ่นดินไหวนั้น คือ ลักษณะที่เกิดการสั่นสะเทือนของพื้นดิน เนื่องจากภายในโลกของเรามีพลังงานสะสมไว้ซึ่งต้องหาทางระบายพลังงานเหล่านั้นออกมาอย่างฉับพลัน เพื่อปรับสมดุลย์ของเปลือกโลกให้คงที่
ทั้งนี้ทุกคนรู้หรือไม่ว่าแม้แผ่นดินไหวจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติก็ตาม แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ คือ แผ่นดินไหวที่เกิดโดยเหตุการณ์ ธรรมชาติ และ แผ่นดินไหวที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
แผ่นดินไหวจากธรรมชาติ
สำหรับแผ่นดินไหวจากธรรมชาติ เป็นธรณีภัยพิบัติชนิดหนึ่ง ส่วนมากเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่จะเกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน เนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความร้อน ที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลันเพื่อปรับความสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่
โดยปกติเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อน ภายในชั้นเปลือกโลกที่อยู่ด้านนอกสุดของโครงสร้างของโลก มีการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ อยู่เสมอ แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อความเค้นอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงมีมากเกินไป
ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยในบริเวณขอบเขตของแผ่นเปลือกโลก เป็นบริเวณที่แบ่งชั้นเปลือกโลกออกเป็นธรณีภาค (lithosphere) เรียกแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณขอบเขตของแผ่นเปลือกโลกนี้ว่า แผ่นดินไหวระหว่างแผ่น (interplate earthquake) ซึ่งเกิดได้บ่อยและรุนแรงกว่า แผ่นดินไหวภายในแผ่น (intraplate earthquake)
แผ่นดินไหวจากการกระทำของมนุษย์
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์นั้น มีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การระเบิด การทำเหมือง สร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนใกล้รอยเลื่อน การทำงานของเครื่องจักรกล การจราจร รวมถึงการเก็บขยะนิวเคลียร์ไว้ใต้ดิน เป็นต้น โดยการกระทำต่าง ๆ ของมนูาย์ที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวนั้นจะมีลักษณะดังนี้
1. การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอาจพบปัญหาการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากน้ำหนักของน้ำในเขื่อนกระตุ้นให้เกิดการปลดปล่อยพลังงาน ทำให้สภาวะความเครียดของแรงในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไป
รวมทั้งทำให้แรงดันของน้ำเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดพลังงานต้านทานที่สะสมตัวในชั้นหิน เรียกแผ่นดินไหวลักษณะนี้ว่า แผ่นดินไหวท้องถิ่น ส่วนมากจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ระดับความลึก 5-10 กิโลเมตร ขนาดและความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหวจะลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะปกติ
รายงานการเกิดแผ่นดินไหวในลักษณะเช่นนี้เคยมีที่ เขื่อนฮูเวอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2488 แต่มีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย เขื่อนการิบา ประเทศซิมบับเว เมื่อ พ.ศ. 2502 เขื่อนครีมัสต้า ประเทศกรีซ เมื่อ พ.ศ. 2506 และครั้งที่มีความรุนแรงครั้งหนึ่งเกิดจากเขื่อนคอยน่า ในประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2508 ซึ่งมีขนาดถึง 6.5 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 180 คน
2. การทำเหมืองในระดับลึก
การทำเหมืองในระดับลึก จะมีวิธีการทำเหมืองด้วยการระเบิดหิน ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นได้
3. การสูบน้ำใต้ดิน
การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้มากเกินไป รวมถึงการสูบน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ชั้นหินที่รองรับเกิดการเคลื่อนตัวได้
4. การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน
การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน จะก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนจากการทดลองระเบิด ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อชั้นหินที่อยู่ใต้เปลือกโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ขนาดแผ่นดินไหว้ที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566 จะไม่รุนแรงจนสามารถก่อให้เกิดสึนามิ หรือสร้างความเสียหายขนาดใหญ่ได้ แต่ประชาชนในบริเวณพื้นที่ภัยพิบัติต้องติดตามข้อมูลข่าวสารตลอด เพื่อสามารถป้องกันชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที โดยประชาชนชาวไทยสามารถติดตามเหตุการณ์ข้อมูลแผ่นดินไหวได้ที่ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว