ท่องเที่ยว

รู้สิทธิที่ควรได้ ‘เที่ยวบินดีเลย์-ยกเลิก’ จะได้รับการชดเชยอย่างไร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความรู้เมื่อพบปัญหา เที่ยวบินดีเลย์-ยกเลิก ในบริการสายการบินภายในประเทศ ล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง ก็สามารถเรียกชดเชยได้

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยได้ออกมาให้ความรู้ และเรื่องที่ผู้ใช้บริการสายการบินภายในประเทศไม่ควรมองข้าม นั่นคือเรื่องของ เที่ยวบินล่าช้า (ดีเลย์) หรือกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินประทันหัน สามารถเรียกร้องการชดเชยจากสายการบินได้

Advertisements

ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 ที่สายการบินต้องชดเชยให้กับผู้บริโภคเมื่อเที่ยวบินล่าช้า เกิน 2 ชั่วโมงเป็นต้นไป หรือยกเลิกเที่ยวบิน การชดเชยจะแบ่งเป็น 5 กรณี ได้แก่

กรณีล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร ดังนี้

1. จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

2. จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

3. เมื่อผู้โดยสารไม่ต้องการเดินทางต่อให้สายการบินคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเต็มจำนวน แต่ถ้าต้องการคืนเป็นบัตรกำนัลการเดินทาง (Travel Vouchers) หรือสิ่งอื่นแทน ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น

Advertisements

กรณีล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร ดังนี้

1. จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

2. จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดติอสื่อสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

3. เสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่าง

  • รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมคืนเต็มจำนวน แต่ถ้าต้องการคืนเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทน ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น
  • เปลี่ยนเที่ยวบินเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง หรือจุดหมายที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกันหรือวันอื่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร และที่นั่งว่าง โดยสายการบินไม่สามารถคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเที่ยวบินแล้วค่าโดยสารต่ำกว่าค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่จ่ายไว้แล้ว สายการบินต้องจ่ายส่วนต่างคืนให้ ส่วนในกรณีที่เปลี่ยนเที่ยวบินไปยังสนามบินที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิม สายการบินจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยังสนามบินที่เป็นจุดหมายเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย
  • เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง หรือจุดหมายที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิมโดยเร็วที่สุดและไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ถ้าค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำกว่าค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่จ่ายไว้แล้ว สายการบินจะต้องจ่ายส่วนต่างคืนให้

ชดเชย เที่ยวบินดีเลย์ ยกเลิก

กรณีล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร ดังนี้

1. ปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง

2. จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาททันที ก่อนที่ผู้โดยสารจะออกเดินทาง ยกเว้นว่าสายการบินพิสูจน์ได้ว่าการล่าช้าเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ในกรณีสายการบินต้องการคืนเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยเงินสด 600 บาท ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น

กรณีล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติเหมือนกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบิน

ชดเชย เที่ยวบินดีเลย์ ยกเลิก

กรณีการยกเลิกเที่ยวบิน หรือการปฏิเสธการขนส่ง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร ดังนี้

1. เสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่าง

  • รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมคืนเต็มจำนวน แต่ถ้าต้องการคืนเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทน ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น
  • เปลี่ยนเที่ยวบินเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง หรือจุดหมายที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกันหรือวันอื่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร และที่นั่งว่าง โดยสายการบินไม่สามารถคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเที่ยวบินแล้วค่าโดยสารต่ำกว่าค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่จ่ายไว้แล้ว สายการบินต้องจ่ายส่วนต่างคืนให้ ส่วนในกรณีที่เปลี่ยนเที่ยวบินไปยังสนามบินที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิม สายการบินจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยังสนามบินที่เป็นจุดหมายเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย
  • เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง หรือจุดหมายที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิมโดยเร็วที่สุดและไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ถ้าค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำกว่าค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่จ่ายไว้แล้ว สายการบินจะต้องจ่ายส่วนต่างคืนให้

2. ให้การดูแลผู้โดยสาร ดังนี้

  • จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
  • จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
  • จัดที่พักแรมให้แก่ผู้โดยสารตั้งแต่ 1 คืนขึ้นไป ในกรณีที่เป็นเที่ยวบินใหม่ที่มีกําหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากําหนดเวลาเดิมเกินกว่า 1 วัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

3. จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 1,200 บาททันที ก่อนที่ผู้โดยสารจะออกเดินทาง ยกเว้นว่าสายการบินพิสูจน์ได้ว่า

  • ได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินและรายละเอียดทางเลือกในการเดินทางอื่นๆ ให่ผู้โดยสารทราบก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน
  • ได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินให้ผู้โดยสารทราบก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่ถึง 3 วัน ในกรณีที่เที่ยวบินใหม่ที่เปลี่ยนนั้นจะออกเดินทางก่อนหรือหลังกำหนดวันเวลาเดิม และไปถึงจุดหมายปลายทางเร็วหรือช้ากว่ากำหนดวันเวลาเดิมไม่เกิน 3 ชั่วโมง
  • การยกเลิกเที่ยวบินนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

ทั้งนี้ การพิสูจน์ว่าสายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินให้ตกเป็นภาระของสายการบิน ในกรณีที่สายการบินต้องการจ่ายเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยจำนวน 1,200 บาท ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

baesittichot

นักเขียนสายฮาอารมณ์ดี ไลฟ์สไตล์ เรื่องน่ารู้ทั่วไป ตามติดเทรนด์ฮิตที่ห้ามพลาด อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ประสบการณ์งานเขียนมากกว่า 1 ปี ชอบเม้าท์มอย ส่งต่อเรื่องราวน่าสนใจผ่านตัวอักษร ผลงานทุกชิ้นจึงเป็นเหมือน 'เพื่อน' ที่อยากเล่าสิ่ง ๆ ต่างให้คุณได้รู้เป็นคนแรกเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button