9 สาเหตุโรควูบ อาการเป็นลม-หน้ามืด ปล่อยไว้อาจเสี่ยงถึงชีวิต
เช็กด่วน 9 สาเหตุโรควูบ อาการหน้ามืด เป็นลม ใครเป็นบ่อยอย่าปล่อยเบลอ เช็กสาเหตุของการเป็นลม ที่อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
โรควูบ หรืออาการเป็นลม บางคนถึงขั้นหมดสติ คือการสูญเสียสติชั่วคราวที่เกิดขึ้นเมื่อสมองไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ อาจเป็นสัญญาณเตือนของร่างการเบื้องต้น นำไปสู่โรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิต ซึ่งวันนี้ Thaiger จะพาทุกคนมาเจาะลึก 9 สาเหตุโรควูบ เช็กให้ดีเป็นลมแบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องธรรมดา
เปิด 9 สาเหตุโรควูบ อาการหน้ามืด เป็นลม เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ก่อนที่จะเจาะลึกถึงสาเหตุอาอาการเป็นลม คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อปริมาณออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ ทำให้หยุดการทำงานชั่วคราว ส่งผลให้หมดสติไปชั่วขณะ แม้ว่าโดยทั่วไปจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีหรือไม่กี่นาที แต่อาการนี้อาจเป็นนัยยะสำคัญของโรคต่าง ๆ ที่กำลังแฝงตัวอยู่ในร่างกายได้ โดยมีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
1. ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
สาเหตุหลักของการเป็นลมคือการที่สมองขาดออกซิเจน สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การไหลเวียนของเลือดหยุดชะงัก, ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และเมื่อสมองไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ จะเกิดการตอบสนองที่นำไปสู่การหมดสติชั่วคราว
2. ภาวะขาดน้ำและความดันโลหิตต่ำ
ภาวะขาดน้ำและความดันโลหิตต่ำ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเป็นลม เมื่อร่างกายมีของเหลวไม่เพียงพอ ปริมาณเลือดจะลดลง ทำให้ความดันโลหิตลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ลดปริมาณเลือดที่อุดมด้วยออกซิเจนที่ไปถึงสมอง ก่อให้เกิดภาวะวูบ ให้เป็นลมหมดสติได้
3. ความเครียด วิตกกังวล
การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสอาจทำให้เป็นลมได้ ซึ่งเส้นประสาทเวกัส มีบทบาทสำคัญในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ซึ่งตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียดทางอารมณ์อย่างกะทันหัน ความเจ็บปวด หรือแม้แต่อาการกลัวเลือด ก็สามารถกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส ทำให้ความดันโลหิตลดลง เกิดเป็นสาเหตุดังข้อ 2. นำไปสู่การเป็นลมได้
4. ภาวะช็อก และปริมาณเลือดต่ำ
ในบางกรณี การเป็นลมอาจเป็นผลมาจากภาวะช็อก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปริมาณเลือดในร่างกายต่ำมาก โดยที่ภาวะช็อกอาจเกิดจากการเสียเลือดมากอย่างฉับพลัน การบาดเจ็บ หรือการเสียน้ำอย่างรุนแรง จากการอาเจียนหรือท้องเสียเป็นเวลานาน ส่งผลให้ปริมาณเลือดลดลง ปริมาณออกซิเจนในสมองลดลง ทำให้หมดสติได้
5. โรคเบาหวาน และภาวะน้ำตาลในเลือด
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงที่จะเป็นลมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าระดับที่ควร ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจเกิดขึ้นได้เมื่อผู้เป็นเบาหวานงดอาหาร หรือรับประทานอินซูลินในปริมาณที่มากเกินไป การเป็นลมอาจเกิดจากการที่เลือดลดลงอย่างกะทันหันในกรณีของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
6. ยา และสารต่าง ๆ
ยา และสารบางชนิด สามารถก่อให้เกิดการเป็นลมได้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียง ตัวอย่างเช่น ยาที่ใช้ลดความดันโลหิต ยาระงับประสาท และยากล่อมประสาท ที่ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่สมองลดลง ในขณะเดียวกัน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือให้สารเสพเกิดร่างกายรับไหว หรือมากเกินไปก็สามารถกระตุ้นให้เกิดโรควูบได้
7. ไอแรง เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรง ๆ
การกดดันร่างกายด้วยการพยายามเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระ หรือแม้แต่การไออย่างรุนแรงก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความดันเลือดตก เพราะร่างกายพยายามลดความกดดันด้วยการสั่งให้หัวใจเต้นช้าลง ภาวะวูบอาจไม่ถึงกับหมดสติไปในทันที แต่อาจมีอาการวูบ หน้ามืด ตัวเย็น เหงื่อชื้น และหากอยู่นิ่ง ๆ สักระยะ อาการวูบก็จะหายไปได้เอง
8. ความผิดปกติของหัวใจ
เมื่อการทำงานของหัวใจผิดปกติไป แน่นอนว่าจะส่งผลไปถึงการสูบฉีดเลือดและระดับความดันโลหิต ก่อให้เกิดอาการวูบหมดสติบ่อย ๆ ในคนไข้กลุ่มนี้ได้ ซึ่งสาเหตุของอาการวูบที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจก็มีตั้งแต่โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
9. ภาวะอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย
หากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ก็เป็นไปได้ที่เลือดจะไปเลี้ยงสมองส่วนควบคุมความรู้สึกลดลง ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม และหมดสติอย่างกะทันหันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาวะวูบจากอาการอ่อนเพลียอาจสัมพันธ์กับภาวะร่างกายขาดน้ำ ยืนตากแดดนาน ๆ หรือไม่ได้รับประทานอาหารจนส่งผลให้ความดันเลือดตกได้ และเกิดอาการวูบหมดสติตามมา