สุขภาพและการแพทย์

เพิ่งรู้! กินยาแก้ปวดมาก ยิ่งปวดหัวกว่าเดิม ไขข้อข้องใจ วิธีกินยาแก้ปวด

เกิดมาเพิ่งรู้! กินยาแก้ปวด หวังลดปวดหัว ปวดตามร่างกาย แต่ทำเอาปวดหัวกว่าเดิม ไขข้อข้องใจเพราะอะไร เสี่ยงอันตรายแค่ไหน พร้อมวิธีกินยาแก้ปวดที่ถูกต้อง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว Thiravat Hemachudha โดยมีข้อความระบุถึงเรื่องของการกินยาแก้ปวด ไขข้อสงสัยว่าทำไมบางคนกินแล้วถึงมีอาการปวดหัวหนักกว่าเดิม แล้วยาพาราที่เรามีติดบ้าน หากกินบ่อย ๆ อันตรายไหม มาไขข้อสงสัยนี้กัน

จริงหรือไม่? ยิ่งกินยาแก้ปวด ยิ่งปวดหัว กินยาพาราบ่อย อันตรายไหม?

เราทุกคนอาจเคยปวดศีรษะสักครั้งหนึ่งของชีวิต ซึ่งเวลาปวดศีรษะเราก็จะกินยาแก้ปวดที่มีติดไว้ประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล หรือไปซื้อยาตามร้านขายยามารับประทาน ยาแก้ปวดเหล่านี้ปลอดภัยหรือไม่ แล้วจริงๆยาแก้ปวดเหล่านี้รับประทานบ่อยๆ หายปวดทุกครั้งหรือไม่ และทำให้ปวดศีรษะได้มากกว่าเดิมจริงหรือไม่

เป็นที่ทราบกันดีว่า ยาแก้ปวดที่เรารับประทาน ไม่ได้ปลอดภัยเสียทีเดียวหากรับประทาน “มากเกินไป” ไม่ว่าจะเป็นพาราเซตามอลที่มีผลต่อตับ ยากลุ่ม NSAID (เช่น ibuprofen, naproxen ฯลฯ) ก็เป็นพิษต่อไต และทำให้มีแผลในกระเพาะอาหารจนเลือดออกได้

แม้แต่ยากลุ่ม ergot ที่เราพบกันในข่าวว่าสามารถทำให้มือหรือเท้าขาดเลือดถึงขั้นต้องตัดมือตัดเท้า อีกทั้งยาแก้ปวดศีรษะเหล่านี้ ถ้าใช้มากเกินไปหรือถี่เกินไปยังกลับทำให้อาการปวดศีรษะมากขึ้นกว่าเดิม อาการปวดศีรษะแบบนี้เรียกได้ว่า โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น (Medication overuse headache) หรือ MOH

กินยาแก้ปวด ปวดหัว

โรค MOH คืออะไร และใครที่มีโอกาสเป็นโรค MOH บ้าง?

โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น (MOH) จะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคปวดศีรษะเป็นประจำอยู่เดิม (เช่น โรคไมเกรน) และรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไปจนทำให้อาการปวดศีรษะที่มีความถี่มากขึ้น หรือมีลักษณะอาการปวดศีรษะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

โดยความหมายของปริมาณยาที่ใช้มากเกินไป หากเป็นยากลุ่มพาราเซตามอล คือ การใช้ยาตั้งแต่ 15 วันต่อเดือนขึ้นไป หากเป็นยาแก้ปวดกลุ่มอนุพันธุ์ของฝิ่น, ยากลุ่ม ergot หรือยากลุ่ม triptan จะหมายถึงการใช้ยาตั้งแต่ 10 วันต่อเดือนขึ้นไป

ผู้ป่วยอาจจะสังเกตอาการเพิ่มเติมได้ง่ายๆ ว่ามีความเสี่ยงจะเกิดโรค MOH โดยผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดแล้วออกฤทธิ์สั้นลง หรือรับประทานแล้วไม่หายปวดศีรษะ

กินยาแก้ปวด ปวดหัว

ทำไมยาแก้ปวดถึงทำให้ปวดหัวมากกว่าเดิม?

กลไกการเกิดโรค MOH เชื่อว่าเกิดจากการที่ใช้ยาแก้ปวดจำนวนมากเป็นระยะเวลาพอสมควร จะทำให้สมองกลับมีการสร้างตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อระดับยาแก้ปวดลดลงจะทำให้สมองเกิดความไวต่อความเจ็บปวดมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

โรค MOH รักษาอย่างไร?

การรักษา MOH มีหลักการง่ายๆ คือการหยุดยาแก้ปวดที่ทำให้เกิด MOH รวมถึงไปพบแพทย์ เพื่อรักษาโรคปวดศีรษะเดิมให้ถูกต้อง

กินยาแก้ปวด ปวดหัว

วิธีกินยาแก้ปวดให้ปลอดภัย?

โรค MOH นี้สามารถป้องกันได้ง่ายมากเพียงใช้ยาแก้ปวดให้ถูกต้องและเหมาะสม เช่น ในผู้ป่วยโรคไมเกรนควรใช้ยาแก้ปวดขณะที่มีอาการปวดเท่านั้น และใช้ยาแก้ปวดตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะแต่ละครั้ง

ที่สำคัญที่สุดคือหากผู้ป่วยโรคไมเกรนมีอาการปวดศีรษะมากขึ้นหรือถี่ขึ้นอย่างผิดสังเกต ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้ยาแก้ปวดมากจนใกล้เคียงกับปริมาณที่ทำให้เกิด MOH ได้ (ดังกล่าวข้างต้น) จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโรคไมเกรนอย่างถูกต้องโดยการใช้ยาควบคุมหรือยาป้องกันอาการปวดศีรษะ

นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความถี่ของอาการปวดศีรษะเดิม เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงปัจจัยการกระตุ้นที่ให้ปวดศีรษะ ก็มีความสำคัญเช่นกัน

กินยาแก้ปวด ปวดหัว

ขอบคุณข้อมูล ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

baesittichot

นักเขียนสายฮาอารมณ์ดี ไลฟ์สไตล์ เรื่องน่ารู้ทั่วไป ตามติดเทรนด์ฮิตที่ห้ามพลาด อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ประสบการณ์งานเขียนมากกว่า 1 ปี ชอบเม้าท์มอย ส่งต่อเรื่องราวน่าสนใจผ่านตัวอักษร ผลงานทุกชิ้นจึงเป็นเหมือน 'เพื่อน' ที่อยากเล่าสิ่ง ๆ ต่างให้คุณได้รู้เป็นคนแรกเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button