รัฐบาล เผยแล้ว “วิธีคิดค่าไฟฟ้า” พฤษภาคม-สิงหาคม 2566
รัฐบาลเผยรายละเอียด วิธีคิดคำนวณค่าไฟฟ้า FT งวด เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 พร้อมประเมินสถานการณ์ผู้ใช้ไฟ ยืนยันจะทยอย ปรับลดค่าไฟ ให้ประชาชนเจอผลกระทบน้อยสุด
แจงสาเหตุ ค่าไฟแพงเพราะอะไร ต้นทุนที่ทำให้ค่า FT ขึ้น
รายละเอียดความคืบหน้าประเด็น “ค่าไฟแพง” ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยรายละเอียด การคำนวณค่าไฟฟ้างวด เดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 พอจะทำให้ประชาชนได้เข้าใจว่า ค่าไฟแพงเพราะอะไร
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้ให้ข้อมูลทั้งในส่วนบ้านอยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ หลังจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศแจ้งเรื่องการคิดค่า Ft ในอัตราเดียวกัน ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
ในส่วนของรายละเอียดที่มาของโครงสร้างต้นทุนค่าไฟในปัจจุบัน ซึ่งค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 2566 ค่าไฟฟ้า Ft จะอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย หากแยกรายละเอียดการคำนวณจะมีส่วนประกอบจาก 6 ส่วน ดังนี้
ต้นทุนที่ทำให้ต้องปรับค่า FT เดือน พ.ค.-ส.ค. 66 มีดังนี้
- ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย
- ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย
- ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย
- ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สตางค์ต่อหน่วย
- ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย และ
- ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย
ขณะที่ ส่วนของค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่ดูเหมือนสูงกว่าค่าไฟฟ้านอกภาคครัวเรือนนั้น เกิดจากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันมีราคาแพงเป็นผลจากปลายปี 2565 ต้นทุนราคาก๊าซ LNG นำเข้าสูงมากและต้องนำเข้าทดแทน ขณะที่ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำลดลงมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แท้จริงในงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 2566) ซึ่งปกติหากเป็นอัตราเดียวจะเท่ากับ 5.24 บาทต่อหน่วย
แต่ รัฐบาลต้องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน จึงคำนวณค่าไฟจากการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกให้ประชาชนก่อน จึงเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ประชาชนได้อัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย. 2566) เท่ากับ 5.33 บาทต่อหน่วย เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ช่วยรับภาระแทนประชาชนบางส่วน
อัตราค่าไฟฟ้า (FT) งวดเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2566
นายอนุชา บูรพชัยศรี เผยว่า จะเหลืออัตราเดียวเฉลี่ยที่ 4.77 บาทต่อหน่วย อาจจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็เป็นอัตราที่ถูกลงจากงวดปัจจุบัน
นอกจากนี้ ราคาต้นทุนพลังงานตั้งแต่ปี 2566 ปรับตัวลดลง แต่ กกพ. ยังคงดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณ ค่า Ft ที่ใช้สมมติฐานตัวเลขต้นทุนในปีก่อนหน้า (2565) ซึ่งเป็นการประมาณการต้นทุนในงวดถัดไป
ขณะที่การประกาศค่าไฟฟ้าในงวดก่อนหน้านี้ แนวโน้มเชื้อเพลิงขึ้นมาตลอด กกพ. เองจึงใช้สมมติฐานค่าเชื้อเพลิงต่ำมาตลอด ทำให้ภาระหนี้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น และเมื่อราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริงลดลง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปหักลบกลบหนี้ในการประกาศค่า Ft และค่าไฟฟ้าในงวดต่อไป ดังนั้น ค่าไฟฟ้าที่ถูกลงจะทยอยปรับลดลง
ทั้งนี้ โฆษดรัฐบาล กล่าวท้งท้ายว่า ต้องคำนึงถึงภาระหนี้สิน ความน่าเชื่อถือ และสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยเพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศได้.