ข่าวภูมิภาค

21 องค์กรภาคเอกชนส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน

วันที่ 6 มีนาคม 61 นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ นายธีรพจน์ กสิรวัฒน์
นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา นายวิชิต ยะลา กรรมการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่
และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา ได้ร่วมกันแถลงการณ์ถึงเจตนารมณ์ของภาคเอกชน 21 องค์กรในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยนายอมฤต กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) ในยุคการพัฒนา 4.0 ที่จะนำพาประเทศไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่ใส่ใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามการลงนามของรัฐบาลในปฏิญญาปารีส

องค์การด้านการท่องเที่ยวและการค้าจังหวัดกระบี่และพังงา ได้ตระหนักและดำเนินการพัฒนาตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้การก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากมีปัจจัยคุกคามต่อความยั่งยืนในพื้นที่อันดามัน ขอกราบเรียนมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า องค์กรธุรกิจและภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดสัมมนาว่าด้วยการประเมินเชิงยุทธศาสตร์เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2561 เพื่อระดมความเห็นว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาแบบใดที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน การเติบโต การจ้างงาน ได้มากกว่ากันระหว่างการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีผลสรุปว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวควบคู่กับพลังงานหมุนเวียนจะนำไปสู่การเติบโต ความยั่งยืน ได้มากกว่า ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1)ตัวเลขทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวบ่งชี้ว่ามูลค่าการท่องเที่ยว 3 จังหวัดหลักในพื้นที่อันดามัน คือ กระบี่ ภูเก็ต พังงา มีมูลค่าจำนวน 5 แสนล้านบาท ก่อเกิดห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจจำนวนมาก
2)จากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคใต้เกิดการจ้างงานในสาขาการท่องเที่ยวมากถึง 430,170 ตำแหน่งในปี 2557 ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าการท่องเที่ยวสามารถจ้างงานได้จำนวนมากและมีกิจการที่ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวจำนวนมาก
3) ภาคใต้ฝั่งอันดามันมีระบบนิเวศที่มีความสำคัญระดับนานาชาติคือพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการยกย่องให้มีความสำคัญระดับนานาชาติหรือแรมซ่าร์ไซด์ในจังหวัด ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง มีพื้นที่รวมกว่า 1.5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นนิเวศที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงอาหารและนิเวศการท่องเที่ยว ด้านนายธีรพจน์ กล่าวว่า สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตาได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวโดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจา
กนักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อสำรวจความเห็นนักท่องเที่ยวกับการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 1,127 คน จาก30 ประเทศ พบประเด็นสำคัญว่านักท่องเที่ยวร้อยละ90 ตอบว่าจะไม่กลับมาเที่ยวอีกหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่

นายอมฤต กล่าวด้วยว่า ประกอบกับก่อนหน้านี้มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ประการที่เป็นการตกผลึกร่วมกันที่จะนำพากระบี่ไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน ปี พ.ศ.2556 มีการจัดทำวิสัยทัศน์กระบี่ 2020 ว่าด้วยการพัฒนากระบี่ไปสู่ความยั่งยืนหรือ krabi go green ซึ่งเป็นการจัดทำของทุกภาคส่วนในจังหวัดจนกลายเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่สำคัญและยึดถือปฏิบัติร่วมกันมา การศึกษาของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเพื่อประเมินและศึกษายุทธศาสตร์การใช้พลังงานหมุนเวียนของจังหวัดกระบี่ในปี 2559 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมาชิกสภานิตบัญญัติ นักวิชาการ มีผลสรุปออกมาร่วมกันว่ากระบี่มีศักยภาพการทำพลังงานหมุนเวียนได้ 1,700 เมกกะวัตต์ มีการริเริ่มศึกษาศักยภาพพื้นที่อันดามันของคณะนักวิชาการเพื่อนำไปสู่การจดทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งในงานศึกษาพบความมหัศจรรย์จำนวนมากของระบบนิเวศที่มีอยู่ในฝั่งอันดามันตั้งแต่จังหวัดสตูลจนถึงระนอง แสดงให้เห็นถึงความพิเศษของระบบนิเวศที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ ฉะนั้นการประเมินการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดกระบี่แท้จริงแล้วมีการประเมินและตกผลึกมาก่อนหน้านี้ด้วยหลักการทางวิชาการ ความเห็นของทุกภาคส่วนในจังหวัดกระบี่ที่จะนำพากระบี่ไปสู่วิสัยทัศน์ krabi go green การประเมินเชิงยุทธศาสตร์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีคำสั่งให้จัดทำนั้น ภาคีเครือข่ายเอกชน ประชาชน ที่ปรากฎในจดหมายเปิดผนึกนี้ ขอยืนยันว่า จังหวัดกระบี่ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาและนำมาปฏิบัติแล้วเป็นเวลาหลายปี และปัจจัยคุกคามสำคัญสำหรับการบรรลุยุทธศาสตร์คือ การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหิน
จึงกราบเรียนมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณายุติโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อให้จังหวัดกระบี่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ได้ร่วมกันคิดและศึกษาไว้แล้วต่อไป โดยหลังจากอ่านแถลงการณ์เสร็จทางตัวแทนก็จะทำการส่งแถลงการณ์ฉบับตัวจริงถึงรัฐมนตรีพลังงานต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button