ข่าวดารา

สรุปดราม่า #แบนสุพรรณหงส์ คนทำหนังค้านกฎใหม่ กีดกันหนังฟอร์มเล็ก ได้รางวัลเมืองนอก แต่บ้านตัวเองถูกปัดตก

สรุปดราม่า #แบนสุพรรณหงส์ ประเด็นร้อนล่าสุด ซึ่งเหล่าผู้กำกับรวมถึงบุคลากรในอุตสาหกรรมวงการหนัง ต่างก็ออกมาวิจารณ์ถึงเกณฑ์การคัดเลือกหนังเพื่อเข้าชิงรางวัลในเวทีใหญ่อย่าง สุพรรณหงส์ ที่มองไว่าเกิดความไม่เป็นธรรม ตัดโอกาสคนทำหนังตัวเล็กตัวน้อย รวมถึงภาพยนตร์นอกกระแสที่ได้ออกฉายต่างประเทศ แต่กลับต้องมาพ่ายในบ้านตัวเอง เพียงเพราะไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไทยครบทุกภาค

เรื่องราวนี้เหมือนประกายไฟเล็ก ๆ ที่จุดชนวนไปถึงความคุกรุ่นในวงการหนังที่เริ่มก่อตัวมาพักใหญ่ จนลุกโชนเหมือนไฟลามทุ่ง โดยวันนี้ทีมงานไทยเกอร์จะมาสรุปประเด็นดราม่าของแฮชแท็กแบนสุพรรณหงส์ และวงการจอเงินให้ทุกท่านได้ทราบกัน

Advertisements

สรุปดราม่า #แบนสุพรรณหงส์ เวทีใหญ่ที่ศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นสูงเกินเอื้อมในสายตาคนทำหนังรายเล็ก

– เวทีสุพรรณหงส์ ปี 2566 ประกาศรายชื่อหนังที่ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาเพื่อเข้าชิงรางวัลบนเวที เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติคือ ไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครบทุก 5 ภูมิภาค โดย 1 ในภาพยนตร์ที่ไม่เข้ารอบก็คือเรื่อง เวลา (Anatomy of Time) ภาพยนตร์โดยผู้กำกับ เก่ง จักรวาล นิลธำรงค์

สรุปดราม่า #แบนสุพรรณหงส์
ภาพจาก : Twitter

– เท้าความก่อนว่าภาพยนตร์เรื่อง เวลา (Anatomy of Time) เป็นหนังที่เพิ่งจะได้รับรางวัลจากเวทีคมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่ 19 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวมถึงผู้กำกับอย่างเก่ง จักรวาล ก็ได้รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมแห่งปีไปครอง

นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติถึง 3 รางวัล รวมถึงได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ที่ต่างประเทศมากมาย ไม่ว่จะเป็น Venice International Film Festival เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี, Singapore International Film Festival ประเทศสิงคโปร์, Busan International Film Festival หรือ BIFF เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้, Taipei Golden Horse Film Festival เมืองไทเป ไต้หวัน ฯลฯ

– ภาพยนตร์ที่สร้างโดยคนไทยและได้รับกระแสตอบรับที่ดีในเวทีต่างประเทศ แต่กลับถูกตัดสิทธิ์การพิจารณารับรางวัล เนื่องจากทางสุพรรณหงส์ออกกฎว่า ภาพยนตร์ที่สามารถเข้าชิงรางวัลได้ จะต้องเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครบทุก 5 ภูมิภาคของไทย เท่ากับว่าหนังเรื่องเวลาที่เข้าฉายบนสตรีมมิ่งเป็นหลัก จึงมีคุณสมบัติไม่ครบไปโดยปริยาย

– คุณศราวุธ แก้วน้ำเย็น หนึ่งในทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องเวลา ได้ออกมากล่าวถึงการพิจารณาเกณฑ์ตัดสินของเวทีใหญ่เวทีหนึ่ง ซึ่งมีคำว่า “หงส์” ว่าไม่เป็นธรรมกับคนทำหนังรายเล็ก เพียงเพราะไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ ไม่ได้ฉายครบทุกภูมิภาคในไทย อีกทั้งยังถูกตัดรอบฉายด้วยซ้ำ

Advertisements

– จากนั้นจึงเกิดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ จากบุคลากรในวงการทำหนัง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิ์ผู้ทำหนังรายเล็ก และเข้าข่ายหนุนหลังหนังค่ายใหญ่ อย่างที่เวทีสุพรรณหงส์ได้ออกกฎมา

– ล่าสุด อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ รองประธานสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ได้โพสต์จดหมายลาออกจากตำแหน่งผ่านทางเฟซบุ๊ก Adisak Limparungpatanakij เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์คัดเลือกภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ประจำปี 2566

รวมถึง ไก่ ณฐพล บุญประกอบ ในฐานะทีมเขียนบท และผู้กำกับร่วมในภาพยนตร์เรื่อง One for the Road ก็ได้ออกมาประกาศจุดยืนผ่านทางเฟซบุ๊ก Nottapon Boonprakob ขอถอนตัวจากการถูกเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ปีนี้ จนกว่าทางสมาพันธ์ภาพยนตร์จะมีมติในการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การพิจารณา

– ก่อนหน้านี้ในปี 2562 สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เคยออกมาแสดงจุดยืนเพื่อคัดค้านการตั้งกติกาของสุพรรณหงส์ ว่าจะต้องเป็นหนังที่เข้าฉายอย่างน้อย 5 จังหวัดหลัก ได้แก่ กรุงเทพ, เชียงใหม่, ชลบุรี, นครราชสีมา และ นครศรีธรรมราช รวมถึงต้องมีคนเข้าชมไม่น้อยกว่า 50,000 คน จึงจะได้สิทธิเข้าชิงรางวัล

สรุปดราม่า #แบนสุพรรณหงส์
ภาพจาก : Facebook สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

แต่ในปีนั้นทางเวทีสุพรรณหงส์ก็ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวแต่อย่างใด

– นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการลดรอบฉายของภาพยนตร์บางเรื่อง เช่น ขุนพันธุ์ 3, วัยอลวน 5 โดยไม่มีการให้เหตุผลที่แน่ชัดในการลดรอบ รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ ที่ได้เรต ฉ 20- เนื่องจากเนื้อหาภาพยนตร์มีการพาดพิงถึงเรื่องศาสนา

– ขณะนี้ทางสุพรรณหงส์และสมาพันธ์ภาพยนตร์ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ต่อกรณีแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ ในครั้งนี้

ดูเหมือนว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดความไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมหนังของไทย โดยดราม่าครั้งนี้ทำให้เห็นว่าผู้คนในวงการภาพยนตร์ของไทย เริ่มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านความไม่เป็นธรรมที่ถูกซุกซ่อนไว้มาอย่างยาวนาน

ท้ายที่สุดแล้ว ทุนนิยมจะเข้ามากลืนและอยู่เหนือศิลปะในวงการภาพยนตร์หรือเปล่า การเคลื่อนไหวของคนทำหนังครั้งนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ เรื่องราวนี้ยังคงเป็นฉากสุดท้ายที่ยังไม่ปรากฏออกมา และยังคงต้องติดตามกันต่อไป.

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button