ขายหัวเราะ เปิดตัว ‘การ์ตูนจาก AI’ เล่มแรกในไทย จบครบคิดมุกวาดแก๊ก
เปิดตัวเล่มแรกในไทย! “ขายหัวเราะ” ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta > วาดรูป คิดมุก วางแก๊ก จบครบด้วยผลงานจากปัญญาประดิษฐ์
เรียกว่ากระแส AI กำลังเติบโตและเป็นที่จับตาใกล้ชิดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกกันอย่างเนืองแน่น ทั้งยังได้สร้างความฮือฮาครั้งใหม่พร้อมเขย่าวงการ “การ์ตูนไทย” เมื่อ “ขายหัวเราะ” นิตยสารพ็อกเก็ตบุ๊กหนังสือการ์ตูนความฮายอดนิยม คู่ชั้นหนังสือคนไทยมาช้านาน ได้ทำการเปิดตัวเล่ม “ขายหัวเราะฉบับ AI” < VER 1.2023 Beta > การ์ตูนแก๊กเล่มแรกในประเทศไทย ที่วาดภาพ คิดมุกแก๊ก ด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งเล่ม ตั้งแต่หน้าปกไปจนถึงเนื้อหาภายในเล่ม
ทั้งนี้นิตยสาร ขายหัวเราะ ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta > ไซส์พิเศษที่ AI แนะนำ (13×9 ซม.) จำนวน 32 หน้า (ไม่รวมปก) พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ผลิตจำนวนจำกัด Limited Edition #แจกฟรี สำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าในบูทขายหัวเราะ i30 ครบ 555 บาท (หรือเลือกซื้อแยกในราคา 55 บาท) ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม – วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566 เท่านั้น
อย่างไรก็ตามปัจจุบันทั่วโลก ได้เริ่มมีการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามีบทบาท ในฐานะผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์บนโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นที่มีหนังสือ มังงะเล่ม Cyberpunk: Peach John ที่ใช้โปรแกรม AI วาดภาพประกอบทั้งเล่ม เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
เรียกว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ที่สามารถปฏิวัติวงการสื่อทุกรูปแบบได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งการใช้ AI สร้างสรรคผลงานต่าง ๆ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงเป็นวงกว้างถึงปัญหาลิขสิทธิ์ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักงานลิขสิทธิ์ปฏิเสธไม่ให้การ์ตูนที่วาดโดย AI นั้นขึ้นทะเบียนงานที่มีลิขสิทธิ์ได้ อ้างอิงตามหลักกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่า ผลงานต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยกระบวนการอัตโนมัติของเครื่องจักร จะไม่นับว่ามีลิขสิทธิ์
กระแสธารของกาลเวลาและเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ เพราะมนุษยชาติมักแสวงหาแนวทางหรือคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้การดำเนินชีวิตของตัวเองมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น คล้ายกับว่าชีวิตที่มีความสุขสบายคือเป้าหมายหลักของเผ่าพันธุ์เรา ทว่าสิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นดาบสองคมที่กลับมาเล่นงานมนุษย์ผู้สร้างอย่างเราเอง เพราะหากวันหนึ่งที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ชีวิตความเป็นจริงด้วยคำว่า “ประสิทธิภาพ” เมื่อนั้นเองที่มนุษย์อาจต้องพิจารณาหาแนวทางรับมือกับปัญหาที่จะตามมาในอนาคต
จากที่สังเกตเห็นมากที่สุดก็จะเป็นการปรับตัวของอาชีพนักวาดภาพ ที่หลายคนเริ่มหันมาใช้ เอไอ ออกไอเดียคอนเซ็ปต์ต่าง ๆ พร้อมกับผันตัวจากศิลปินมาเป็น Prompt Engineering ที่อาจกลายมาเป็นบทบาทสำคัญของอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยุคใหม่ก็เป็นได้.
อ้างอิง : 1