วิธีป้องกัน ซีเซียม-137 รู้ทันอันตราย พร้อมรับมือสารกัมมันตรังสี
สืบเนื่องจากกรณีข่าววัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 (Caesium-137, Cesium-137) ถูกพบว่าอยู่ในสถานะโดนหลอมจากโรงหลอมแห่งหนึ่งที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นฝุ่นแดงซีเซียม ประกอบกับการออกมาให้ข้อมูลจากหลายแหล่งข่าวถึงความอันตรายจากสารกัมมันตรังสีซีเซียมหากถูกหลอมเผาไหม้ ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจเนื่องจากสารซีเซียม-137 นั้นสามารถเป็นต้นกำเนิดของโรคมะเร็งในมนุษย์ได้
ในโอกาสนี้ทางเดอะไทยเกอร์จึงได้รวบรวมข้อมูลวิธีป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 มาฝากทุกคนกันด้วย หากในสถานการณ์จริงที่มนุษย์ได้รับการปนเปื้อนซีเซียม-137 จะสามารถป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตรังสีดังกล่าวได้หรือไม่ หรือมีวิธีรักษาอาการที่เกิดจากการปนเปื้อนในเบื้องต้นอย่างไรได้บ้าง ไปติดตามอ่านพร้อม ๆ กันได้เลย
แนวทางป้องกันอันตรายจาก “ซีเซียม-137”
สำหรับสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 โดยปกติแล้วจะถูกห่อหุ้มด้วยเหล็กอย่างดี แต่ถ้าในสถานการณ์ที่เกิดการตัดหรือบีบอัดทำลายตัวห่อหุ้ม จะสามารถทำให้สารซีเซียมฟุ้งกระจายปนเปื้อนไปในอากาศ หรือละลายปนเปื้อนในน้ำได้
รวมไปถึงการปนเปื้อนในระบบนิเวศอย่างพื้นดิน ซึ่งร่างกายจะรับสารกัมมันตรังสีได้ก็ต่อเมื่อสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง หรือรับเอาสารดังกล่าวเข้าสู่ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการสูดอากาศที่ปนเปื้อน หรือการรับประทานอาหารที่มีวัตถุดิบปนเปื้อนก็ตาม
วิธีป้องกันซีเซียม-137 ในกรณีที่มีการสัมผัสปนเปื้อนเปื้อนรังสีแต่ยังไม่เข้าสู่ภายในร่างกาย สามารถลดการปนเปื้อนได้โดยการปัดออก เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือล้างด้วยน้ำ และหลีกเลี่ยงการอุปโภคบริโภคสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนของสารซีเซียม เพื่อป้องกันซีเซียมเข้าสู่ร่างกายและกระตุ้นการเกิดโรคมะเร็ง
ในกรณีที่ได้รับสารซีเซียม-137 ผ่านการบริโภควัตถุปนเปื้อน ร่างกายจะสามารถขับพิษออกมาได้เองตามธรรมชาติ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกันว่าสามารถขับสารกัมมันตรังสีชนิดนี้ออกมาได้มากน้อยขนาดไหน โดยในทางการแพทย์สามารถตรวจสอบปริมาณและตำแหน่งของซีเซียมในร่างกายมนุษย์ได้
และยังมียาสำหรับช่วยให้จับตัวกับอนุภาคของสารกัมตรังสีดังกล่าวพร้อมขับออกจากร่างกาย ดังนั้นหากเกิดข้อสงสัยว่าร่างกายได้รับสารซีเซียมหรือไม่ โดยสังเกตได้จากการคลื่นไส้อาเจียนที่ผิดปกติ แผลผุผองเน่าเปื่อย ผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย หรือผมร่วง ให้ติดต่อทางโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในการตรวจสอบร่างกาย และดำเนินการรักษาต่อไป
แม้ซีเซียม-137 จะไม่อันตรายเท่าโคบอลต์ แต่หากร่างกายได้รับสารกัมมันตรังสีชนิดนี้ในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ระบบภายในร่างกายเกิดความผิดปกติ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ ระบบผลิตเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและอ่อนเพลีย และอาจส่งผลต่อชีวิตได้
ในกรณีที่ได้รับสารซีเซียมเพียงบางส่วนของร่างกาย หรือสัมผัสสารภายนอกร่างกายก็อาจทำให้เกิดอาการด้านผิวหนังได้ โดยอาจมีผื่นแดง ผมร่วง และแผลเปื่อย รวมไปถึงการกระตุ้นการเกิดโรคมะเร็งในร่างกายมนุษย์ด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญในการได้รับรังสีนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณ ระยะเวลาสัมผัส ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดรังสี และมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันหรือไม่
สรุปแล้ว วิธีป้องกันซีเซียม-137 ได้ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้รังสีหรือพื้นที่บริเวณที่มีการปนเปื้อน เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียมโดยไม่รู้ตัว ก็สามารถแจ้งข้อมูลแก่ทางโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อขอรับการตรวจร่างกายได้โดยอย่าลืมแจ้งความเสี่ยงสัมผัสต่อเจ้าหน้าที่ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์ และ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ