ดราม่าข้ามประเทศ ค่ายมวย กุน ขแมร์ กัมพูชา นำ ตราครุฑ หรือ ตราแผ่นดินของไทย ไปติดเป็นโลโก้บนกางเกงมวย ก่อนเปิดวางจำหน่ายหรา โซเชียลเลือดสยามไม่ทน ขอโวยทวงคืนศักดิ์ศรี
วันที่ 30 มกราคม 2566 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ASEAN “มอง” ไทย ได้โพสต์รูปกางเกงมวยของค่ายมวยกุนขะแมร์ในกัมพูชาซึ่งได้มีการนำเอาตราพระครุฑพ่าห์ หรือ ตราครุฑไทยไปติดเป็นโลกโก้แปะโชว์เด่นอยู่บนกางเกงนุ่งดวลปั้นสีดำ โดยหลังจากโพสต์นี้ของทางเพจถูกตีแผ่ไปไม่นาน ความเห็นจำนวนมากก็ถูกรัวคอเมนต์กันสนั่น
ตัวอย่าง 2-3 จาก 577 ความเห็นและอีกกว่าสองร้อยแชร์บทความนี้ที่ถูกส่งต่อ ระบุ “กระทรวงวัฒนธรรม ควรทำอะไรสักอย่างแล้วนะครับ”, “แค่เอาไปไว้ตรงนั้นก็บ่งบอกแล้วว่าไม่ให้ความเคารพนับถือ เลย”
“ครุฑ ถึงแม้จะเป็นวัฒนธรรมร่วมในย่านนี้ ทุกคนย่อมมีสิทธิใช้ได้ แม้แต่ อินโดนีเซีย ก็มีตราแผ่นดิน เป็นพญาครุฑปัญจศีล หรือ คนอินโดฯเรียกว่า การูด้า (Garuda) ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่าง จาก ตราครุฑแผ่นดินไทยอย่างชัดเจน เป็นเอกลักษณ์ของคนอินโดฯ แต่ เขมร เล่นใหญ่เกินเบอร์ (ทำกร่าง-ทำห้าว ไม่รู้จักที่สูง-ที่ต่ำ) ก๊อปลายเส้น/รูปร่าง ตราครุฑแผ่นดินไทย มาทำเป็นแบรนด์สินค้ากางเกงมวยออกขาย ระวังเถอะ จากเรื่องไม่เป็นเรื่อง มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ บานปลายเป็นความขัดแย้งระดับชาติได้”
ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Bangkok Tourism Division ระบุ “ครุฑ” เป็นสัตว์กึ่งเทพ เป็นพญาแห่งนกทั้งมวล ปกติอาศัยอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรี ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สุบรรณ” ซึ่งหมายถึง “ขนวิเศษ” ครุฑเป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ มีบทบาทปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายต่อหลายเรื่อง
นับตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณเล่ากันว่า ครุฑกับนาคเป็นพี่น้องต่างมารดา วันหนึ่งทั้งสองมีเหตุให้ผิดใจกัน จนกลายเป็นศัตรูต่อกันในเวลาต่อมา และคนไทยรู้จักครุฑ ในฐานะที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์ จากตำนานที่ว่า พระนารายณ์ได้สู้รบกับพญาครุฑ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระนารายณ์ให้พรแก่ครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะ และให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระนารายณ์
ด้วยฤทธานุภาพของพญาครุฑ จึงมีการสร้าง รูปครุฑพ่าห์ หรือ รูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นไทยได้รับลัทธิเทวราชาของอินเดีย ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ คือ อวตารของพระนารายณ์
ดังนั้น ครุฑ ซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังปรากฏในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น ต่อมามีการใช้ “ตราครุฑ” เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ
ทั้งนี้ ในส่วนของความขัดแย้งปมดราม่าระหว่างข้อถกเถียงต้นตำรับมวยระหว่าง มวยกุน แขมร์ ของกัมพูชากับไทย ที่จากกจุดเริ่มต้น “กัมพูชา” อ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันมวย ภายใต้ชื่อ “กุน ขแมร์” แทนที่จะเรียก “มวยไทย” โดยมีกติกาทุกอย่างคล้าย “มวยไทย”
ต่อมา ทางสมาพันธ์มวยไทยนานาชาติ หรือ IFMA ได้ยืนยันว่าจะไม่ส่งนักชกไทยเข้าร่วมการแข่งขัน เนื่องจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ได้ยืนยันการใช้ “มวยไทย” ในการแข่งขันระดับนานาชาติ
ขณะที่ ทางกัมพูชา โดย เลขาธิการกรรมการการจัดการแข่งขันซีเกมส์ของกัมพูชา (CAMSOC) และคณะกรรมการโอลิมปิกของกัมพูชา (NOCC) ก็ออกมาตอบโต้ โดยไม่สนใจประเทศไทย และหากมีชาติอื่นๆ ร่วมแข่งขันอย่างน้อย 4 ชาติ ก็สามารถจัดการแข่งขันได้ พร้อมกับตอบโต้ว่า หากซีเกมส์ 2025 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ กัมพูชา ก็จะ “บอยคอต” กีฬามวยไทย เช่นเดียวกัน
- โชว์หลักฐานอย่าเคลม ครูมวยโคราช คือต้นตำรับ “กุน ขแมร์”
- สมาพันธ์ กุน ขแมร์ ไม่สน เตรียมจัดประชุมกติกาก่อนแข่งซีเกมส์
- ไทย ไม่ส่งนักกีฬาลงแข่ง กุน ขแมร์