ไลฟ์สไตล์

วันครูกับวันไหว้ครู ต่างกันอย่างไร ส่องความหมายและกิจกรรมที่น่าสนใจ

ไขข้อข้องใจ วันครูกับวันไหว้ครู ต่างกันอย่างไร พร้อมส่องความหมายและจุดประสงค์ของกิจกรรม ทำไมเราถึงต้องมีวันครูแห่งชาติ 2566

เนื่องในโอกาสที่กำลังถึง ‘วันครูแห่งชาติ’ 16 มกราคม 2566 วันนี้เราเลยจะพาทุกท่าน ไปส่องสาระน่ารู้เกี่ยวกับวันครู ที่หลายคนมักจำสลับกับวันไหว้ครู ว่าแท้จริงแล้วทั้งสองวันนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งในเรื่องของความหมาย จุดประสงค์ และกิจกรรมที่น่าสนใจ ฉะนั้นหากใครพร้อมแล้ว อย่ารอช้า ไปส่องพร้อมกันได้เลย

Advertisements

เปิดความหมาย วันครู และ วันไหว้ครู

ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยมีขนบธรรมเนียมที่เกี่ยวกับครูและนักเรียนสืบทอดกันมาอย่างยาวนานหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือธรรมเนียมที่ปฏิบัติสานต่อกันในวันครูและวันไหว้ครู โดยมีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้

วันครูแห่งชาติ 2566

วันครูแห่งชาติ มีความสำคัญยังไงต่อวิชาชีพครู

วันครู เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2488 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยได้มีการกำหนดให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็นวันครูแห่งชาติ จนเริ่มมีการจัดกิจกรรมขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2500 ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ ประเทศไทย

ด้านความสำคัญของวันครู ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความสามัคคีและความเข้าใจอันดีงามของวิชาชีพครู โดยมุ่งหวังให้เกิดการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของครู เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีศักยภาพที่ดี

Advertisements

สำหรับสัญลักษณ์ในวันครูแห่งชาตินั้นได้แก่ ดอกกล้วยไม้ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2539 โดยมีความหมายแฝงถึงการเอาใจใส่ และการผลิบานที่งดงาม

นอกจากนี้แล้วในการจัดงานวันครู 16 มกราคม 2566 หลายพื้นที่ยังได้มีกิจกรรมการแจกจ่ายอนุสรณ์ที่ช่วยในการระลึกถึงความสำคัญของครูหลายอย่าง อาทิ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

วันไหว้ครู 2566

วันไหว้ครู ต่างจากวันครูอย่างไร

สำหรับวันไหว้ครู มีความแตกต่างจากวันครูอยู่หลายอย่าง เพราะวันไหว้ครู ถือเป็นวันแห่งกิจกรรมที่เด็ก ๆ ต้องเข้าร่วม ซึ่งในแต่ละปีจะไม่มีการกำหนดวันที่ชัดเจน โดยแต่ละโรงเรียนจะจัดใกล้เคียงกันภายในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี หรืออาจยึดให้วันพฤหัสบดีแรกหลังการเปิดเทอมที่ 1 เป็นวันไหว้ครูก็ได้เช่นเดียวกัน

ส่วนกิจกรรมที่จัดทำขึ้นในวันไหว้ครู มีจุดประสงค์เพื่อให้ลูกศิษย์ ได้เข้ามากราบไหว้บูชาครู ผู้มีพระคุณของตัวเอง โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่แสดงถึงความเคารพกตัญญูของเด็กต่อพระคุณที่สาม ซึ่งการไหว้ครูจะจัดขึ้นในพื้นที่ของสถานศึกษา โดยเด็ก ๆ จะได้ทำพานไหว้ครูร่วมกันเพื่อเป็นตัวแทนของห้อง โดยจะแบ่งเป็นพานธูปเทียนสำหรับเด็กผู้ชาย และพานดอกไม้สำหรับเด็กผู้หญิง

สำหรับดอกไม้ที่นิยมใส่ในพานไหว้ครู ก็มีความหมายที่ลึกซึ้งด้วยกันหลายอย่าง ซึ่งดอกไม้ที่นิยมใช้กันในกิจกรรมไหว้ครู มีดังต่อไปนี้

  • ดอกมะเขือ หมายถึง การอ่อนน้อมถ่อมตน และความพร้อมในการเรียนรู้ เพื่อเจริญงอกงามต่อไป
  • หญ้าแพรก หมายถึง สติปัญญาและความงอกงาม
  • ดอกเข็ม หมายถึง สติปัญญาความรู้ที่เฉียบแหลม
  • ข้าวตอก หมายถึง ความมีระเบียบวินัยของลูกศิษย์

ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า แม้วันครูและวันไหว้ครู จะมีชื่อเรียกที่คล้ายคลึงกัน แต่วัตถุประสงค์ในการจัดงาน กิจกรรมที่ทำในวันดังกล่าวมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นในวันที่ 16 มกราคม 2566 ที่กำลังจะถึง หวังว่าจะไม่มีใครสับสนความหมายและกิจกรรมที่ต้องทำในวันครูแห่งชาตินี้นะ.

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button