ไลฟ์สไตล์

16 ม.ค. “วันครูแห่งชาติ” แบบอย่าง “เรือจ้าง” ผู้ประทานความรู้มาให้

ชวนรู้จัก “วันครูแห่งชาติ” 16 มกราคม 2566 ยกย่องบุคลากรเสียสละ ผู้คอยขัดเกลาเคี่ยวเข็ญนักเรียน ให้มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ พร้อมเป็นกำลังหลักสำคัญต่อประเทศชาติในอนาคต

หลายคนอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าครูบาอาจาย์เปรียบได้ดั่ง “เรือจ้าง” ที่คอยรับส่งผู้โดยสาร หรือก็คือนักเรียน-นักศึกษา ผู้ขวนขวายหาวิชาความรู้ ให้เดินทางผ่านเกลียวคลื่นน้อยใหญ่อย่างปลอดภัย จนสุดท้ายก็ได้มาถึงฝั่งฝันตามเป้าหมายของแต่ละคน คงจะเป็นคำกล่าวที่ดูเหมาะสมที่สุดใน “วันครูแห่งชาติ” (Teachers’ Day) วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี

เพราะครูคือผู้ปกครองอีกคน ที่มีบทบาทในการถ่ายทอดวิชาความรู้แขนงต่าง ๆ ทั้งยังขัดเกลาสานุศิษย์ในแต่ละรุ่น ให้กลายเป็นบุคลากรคุณภาพ พร้อมรับใช้ประเทศชาติในภายภาคหน้า อีกทั้งวัฒนธรรมไทยยังนับถือยกย่อง อาชีพครู-อาจารย์ มาตั้งแต่โบราณกาล จึงทำให้อาชีพครู มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมไทยจวบจนปัจจุบันนั้นเอง

แน่นอนว่า “วันครู” มีขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึง “วันครูในประเทศไทย” ซึ่งมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจมิใช่น้อย ทั้งนี้จะมีเรื่องราวเกร็ดประวัติวันครูอะไรบ้าง สามารถเข้ามาอ่านข้างล่างนี้ได้เลยครับ

เปิดประวัติ “วันครูแห่งชาติ” เชิดชูเกียรติครูผู้สอนสั่ง

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2488 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทางด้านของ คุรุสภา มีการจัดประชุมสามัญคุรุสภาในทุก ๆ ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้น ใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 ณ ที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

หลังจากที่ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศัยดังกล่าวจบ ก็เกิดเป็นกระแสต่อเนื่องในสังคม ที่เรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก

จนทำให้ในปี พ.ศ. 2499 ที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 กำหนดให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” ยึดเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครูนั่นเอง

วันครูแห่งชาติ 2566 ประวัติความหมายดอกไม้ “วันครู”

การมอบดอกไม้ใน “วันครู” นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่จัดขึ้นทุกปี นอกจากความสวยงามแล้ว ดอกไม้ยังมีความหมายสื่อถึงบทบาทหน้าที่และจริยธรรมที่ผู้เป็นครูพึงระลึกไว้เสมอ เปรียบได้กับเครื่องเตือนใจถึงหน้าที่การเป็นครูบาอาจารย์ของตนเองผ่านความหมายนัยสำคัญต่าง ๆ ของดอกไม้ทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่

  1. ดอกเข็ม ตัวแทนความแหลมคมประดุจเข็ม ดั่งสติปัญญาที่เฉียบคม
  2. ดอกมะเขือ คือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ใจ ความสัตย์ซื่อต่อวิชาชีพครู
  3. ข้าวตอก สื่อถึงความมีระเบียบวินัย พร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบเคร่งครัด
  4. หญ้าแพรก เป็นสัญลักษณ์แทนความเจริญงอกงาม การเรียนรู้และเติบโต

วันครูแห่งชาติ 2566 ดอกไม้ไหว้ครู

การจัดงานวันครูแห่งชาติ

พิธีกรรมงานวันครูแห่งชาติ ในวันที่ 16 มกราคมของทุกปี จะแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมทางศาสนา, พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ และกิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น ทั้งนี้รูปแบบการจัดกิจกรรมในวันครูขึ้นอยู่กับความสะดวกของสถานศึกษานั้น ๆ ไม่ได้ต้องยึดเป็นกฎตายตัวเสมอไปครับ

สำหรับพิธีกรรมงานวันครูแห่งชาติ เริ่มต้นขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

สำหรับการจัดงานวันครูแห่งประเทศไทยของหน่วยงานรัฐบาลในปัจจุบัน พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า ณ หอประชุมคุรุสภา ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน 1,000 รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน

ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงประคุณบูรพาจารย์

วันครูแห่งชาติ 2566 งานวันครู

นอกจากนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบคำขวัญวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 “ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต” ในส่วนของคำขวัญวันครูช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีทั้งหมด 7 ข้อดังนี้

  1. คำขวัญวันครู พ.ศ. 2565 : พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้สู่อนาคต
  2. คำขวัญวันครู พ.ศ. 2564 : ครูวิถีใหม่ ใส่ใจดิจิทัล สร้างสรรค์ คุณธรรม ประจำชาติ
  3. คำขวัญวันครู พ.ศ. 2563 : ครูไทย รักศิษย์ คิดพัฒนา
  4. คำขวัญวันครู พ.ศ. 2562 : ครูดี ศิษย์ดี มีพัฒนา ก้าวหน้า สู่เทคโนโลยี
  5. คำขวัญวันครู พ.ศ. 2561 : ศิษย์ดี ก็ด้วยครูดี มีศรัทธา
  6. คำขวัญวันครู พ.ศ. 2560 : ชาติพัฒนา ด้วยครูดี มีคุณภาพ ศิษย์ซาบซึ้ง ในพระคุณครู
  7. คำขวัญวันครู พ.ศ. 2559 : อนาคตก้าวไกล ด้วยครูดี มีคุณภาพ

อ้างอิง : 1 2

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button