Line Newsไลฟ์สไตล์

ประวัติ วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคม กษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

อีกหนึ่งวันสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องในวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีผู้กอบกู้เอกราช

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566 เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ในการสถาปนากรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ครบรอบ 256 ปี ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมหากษัตริย์นักรบ ผู้กอบกู้เอกราช และวางรากฐานแนวทางการรบเพื่อป้องกันประเทศจากอริราชศัตรู

จนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถในการรบหลายแขนง เตรียมย้อนรอยประวัติความเป็นมาของวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีได้แล้วที่นี่

พระราชประวัติ “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ “นายไหฮอง” ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ”นางนกเอี้ยง” ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ 3)

จากนั้นเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ต่อมา เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อพระเจ้าตากในเวลานั้นทรงมีอายุครบ 13 ปี เมื่อปีพ.ศ. 2301

จากนั้นในยุคของ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตากครั้นพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น “พระยาตาก ปกครองเมืองตาก”

ประวัติ วันพระเจ้าตากสิน 2566
ภาพจาก : กรมประชาสัมพันธ์

พระราชกรณียกิจสำคัญของ “พระเจ้ากรุงธนบุรี”

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินไทยมากมายมหาศาล โดยผลงานพระราชการณียกิจสำคัญของท่านคือ การกอบกู้เอกราชจากทัพพม่า ครั่นเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2310 โดยเมื่อปี เมื่อปี พ.ศ. 2309 พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ และได้เสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310

เหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นเกิดความระส่ำระสาย ทหารพม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระยาตากเห็นว่าคงสู้พม่าไม่ได้แล้ว จึงนำทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา และได้รวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรี แล้วยกทัพกลับไปตีพม่าที่กรุงศรีอยุธยา ทัพของพระยาตากสามารถตีพม่าจนแตกพ่ายไป พระยาตากสามารถรวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาจากพม่าได้ภายในเวลา 7 เดือน

หลังจากชนะศึกกับพม่าจนกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ ได้ทรงทำการสร้างและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง พระองค์ทรงเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายมากและยากที่จะ ฟื้นฟูให้เจริญเหมือนเดิมได้ พระองค์จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 4 ครองกรุงธนบุรีอยู่ 15 ปี นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ปกครองกรุงธนบุรี

กาลเวลาผ่านไปจนถึงปี พ.ศ. 2325 พระยาสรรค์กับพวกได้ก่อกบฏ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งขณะนั้นไปทำศึกกับเขมรจึงกลับมายังกรุงธนบุรี เห็นว่าความไม่สงบของบ้านเมืองเกิดจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียร ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วฝังพระบรมศพที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทารามวรวิหาร) เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมพรรษาได้ 48 พรรษา สิริรวมครองราชย์ได้ 15 ปี

ส่งผลให้รัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีที่สุด และมีศาลเทพารักษ์และพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายแด่พระองค์มากกว่าอดีตพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใด

สรุปผลงาน พระราชกรณียกิจ พระเจ้าตาก

1. การกู้เอกราช เมื่อปี พ.ศ. 2309 พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ และได้เสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 เหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นเกิดความระส่ำระสาย ทหารพม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระยาตากเห็นว่าคงสู้พม่าไม่ได้แล้ว จึงนำทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา และได้รวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรี แล้วยกทัพกลับไปตีพม่าที่กรุงศรีอยุธยา ทัพของพระยาตากสามารถตีพม่าจนแตกพ่ายไป พระยาตากสามารถรวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาจากพม่าได้ภายในเวลา 7 เดือน

2. การสร้างและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง หลังจากได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้แล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายมากและยากที่จะ ฟื้นฟูให้เจริญเหมือนเดิมได้ พระองค์จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 4 ครองกรุงธนบุรีอยู่ 15 ปี นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ปกครองกรุงธนบุรี

3. พระราชกรณียกิจอื่น ๆ นอกจากจะทรงกู้เอกราชและทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแล้ว พระองค์ยังได้ขยายอาณาเขตโดยตีเวียงจันทน์ได้และอัญเชิญพระแก้วมรกตมา ประดิษฐานไว้ที่เมืองหลวง ทรงทำนุบำรุงศาสนาและทรงส่งเสริมให้คนแต่งหนังสือต่าง ๆ ขึ้น เพราะหนังสือตำราอันมีค่าถูกพม่าเผาไปเกือบหมด ทรงเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรเป็นอย่างดีแม้ว่าจะต้องทำสงครามกับพม่า ตลอดเวลาก็ตาม

อ้างอิง : 1 2

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button