ปปป. แจ้งข้อหา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.บูรพา ทุจริตเบิกงบสัมมนาทิพย์
ปปป.บุกแจ้งข้อหา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดโครงการอบรมสัมมนาวิชาการทิพย์ ทุจริตเบิกงบประมาณค่าจ้างวิทยากร
วันนี้ (12 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธาภิรมย์ พ.ต.อ.ศราวุธ ศรีสุขศิริพันธ์ รอง ผบก.รฟ. ช่วยราชการ บก.ปปป., พ.ต.อ.เกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ ผกก.กลุ่มงานสอบสวน บก.ปปป. พ.ต.อ.พิทักษ์ วาฤทธิ์ ผกก.2 บก.ปปป.สนธิกำลังร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เดินทางมายังมหาวิทยาลัยบูรพา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี เพื่อทำการแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพงษ์ บัวหล้า อายุ 48 ปี คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ นางศญาพัฒน์ กิตติสารวัณโณ อายุ 46 ปี รักษาการหัวหน้าสำนักงานคณบดี ในความผิดฐาน “เป็นผู้รักษาทรัพย์แต่กลับร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต , เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ , เป็นพนักงานรักษาทรัพย์แต่กลับร่วมกันใช้อํานาจในหน้าที่โดยทุจริต,เป็นพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ ร่วมกันจ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่าย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และ เป็นพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากตำรวจ บก.ปปป. ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มหาวิทยาลัยบูรพา ได้มีการจัดโครงการวิชาการขึ้นเป็นจำนวนมากรวมกว่า 47 โครงการ โดยมีบางโครงการเป็นการจัดทำในลักษณะต้องสงสัยว่าจะมีความไม่ชอบมาพากล หรือ มีการหาผลประโยชน์แอบแฝงเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงจัดกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนพบว่ามีจำนวน 8 โครงการที่พบความผิดปกติในการจัดทำหนังสือเบิกจ่ายเงินค่าดำเนินการ โดยเฉพาะการจัดทำโครงการบริการวิชาการการจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใต้วงเงินงบประมาณ 1,122,922.70 บาท ซึ่งจัดขึ้นช่วงระหว่างวันที่ 7 -16 ม.ค. 61 โดยมี นายธีรพงษ์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ กับ ประธานกรรมการ และมี นางศญาพัฒน์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการทำใบเบิกจ่ายค่าจัดจ้างวิทยากรชาวต่างชาติจำนวน 3 คน ในอัตราค่าจ้างคนละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 450,000 บาท แต่เมื่อตรวจสอบประวัติการเข้า – ออก ราชอาณาจักรไทย ของวิทยากรทั้ง 3 คน กลับพบว่า มีการเข้ามาในประเทศ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 60 และ ออกจากราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 60 และภายหลังไม่พบข้อมูลการเข้าราชอาณาจักรไทยอีกเลย ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากับที่มีการจัดทำโครงการดังกล่าว รวมถึงไม่มีการจัดบรรยายผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์แต่อย่างใด นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ยังพบว่าไม่มีการจัดดำเนินการอบรมสัมมนาตามที่มีการกล่าวอ้าง ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นการทุจริตเงินงบประมาณ จึงนำมาสู่การเชิญตัวทั้งสองมาแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว
จากการสอบสวนทั้งสองให้การปฏิเสธ จึงนำตัวไปทำบันทึกพิมพ์ลายนิ้วมือรับทราบข้อกล่าวหา ยัง สภ.แสนสุข ก่อนปล่อยตัวกลับไป โดยจะนัดหมายให้มาเข้าพบเจ้าหน้าที่อีกครั้งในภายหลังต่อไป
ที่มา : กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ – บก.ปปป.