Jannah Theme License is not validated, Go to the theme options page to validate the license, You need a single license for each domain name.
ข่าว

ประยุทธ์ แนะไอเดียช่วงน้ำท่วม ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์หากสื่อสารอื่นล่มหมด

ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนะไอเดียการติดต่อสื่อสารกับประชาชนช่วงน้ำท่วม กำชับให้การบริการไฟฟ้า น้ำประกา และโทรศัพท์ต้องอยู่ได้นานที่สุด กรณีระบบล่มทั้งหมด อาจต้องใช้วิทยุทรานซิสเตอร์แจ้งข่าวหากแทน เหมือนตอนปี 2554 ที่น้ำท่วมใหญ่

วันนี้ 3ตุลาคม 2565 เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ (ผ่านระบบ Video Conference) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าได้ติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน “โนรู” และสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน และรับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกหน่วยงานก็ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ในการดูแลแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้การบูรณาการของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน พร้อมย้ำว่ารัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศและรับทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมีการติดตามและดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้รัฐบาล โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการเดินทางลงไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และการประชุมวันนี้ก็เพื่อมารับฟังถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ในอนาคต ทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำ สถานการณ์ฝน การบรรเทาสาธารณภัย การสร้างการรับรู้ การติดตามสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ และการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นต้น

นายกรัฐมนตรีย้ำให้มีการบูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงานให้เป็นระบบมีความเป็นเอกภาพ รวมทั้งให้มีการวางแผนการเตรียมการเคลื่อนย้ายประชาชนอย่างมีขั้นตอนในการปฏิบัติที่ชัดเจน และการหาแนวทางในการดูแลบ้านเรือนให้กับประชาชนระหว่างนั้น ตลอดจนการดูแลผู้ที่ต้องไปเฝ้าบ้านให้กับประชาชนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและเข้าใจถึงสถานการณ์ความจำเป็นที่ต้องเคลื่อนย้ายออกมาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย

นายกรัฐมนตรีขอบคุณและชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตามแผนที่วางไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยจากฝนตกหนักเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ในบางพื้นที่ ซึ่งการมาประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยฯ ผ่านระบบ Video Conference ณ กระทรวงมหาดไทยครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่อยู่หน้างาน ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการปฏิบัติงานและการดูแลช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการหารือของที่ประชุมฯ ว่า เพื่อเตรียมการวางแผนไว้ล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่กับการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการหาแนวทางในการดูแลทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและสถานการณ์ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น โดยเน้นย้ำหลักการการระบายน้ำ การพร่องน้ำ การจูงน้ำ การเก็บกักน้ำในพื้นที่ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก และเข้าใจถึงความจำเป็นหากต้องมีการใช้พื้นที่เป็นที่รองรับน้ำ รวมทั้งเน้นย้ำการระบายน้ำทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออกให้เกิดความสมดุลกัน และสอดคล้องกับปริมาณน้ำในแม่น้ำ คู คลองต่าง ๆ รวมถึงการพิจารณาในการขุดคู คลอง และการสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติมในอนาคต โดยต้องให้เกิดความร่วมมือจากภาคประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด ขณะเดียวกันได้ย้ำถึงการดูแลเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และทำนบต่าง ๆ ให้มีความแข็งแรงพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเรื่องนี้อยู่ในแผนของการบริหารจัดการน้ำตามนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุป ดังนี้

1 เรื่องการพยากรณ์ ให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีและมีการประสานงานเผยแพร่ข้อมูลสร้างการรับรู้ไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงทั้งในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และชุมชนต่าง ๆ เป็นต้น (2) ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง เตรียมความพร้อมทุกด้านทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล และช่วยเหลือประชาชนตามแผนงานที่กำหนดไว้ ตลอดจนการกำจัดวัชพืช ขยะ และสิ่งกีดขวางตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำ การระบายน้ำ เปิดทางน้ำ และผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วม (3) หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างทั้งถนนและเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ให้มีการแก้ไขปัญหาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำในช่วงฝนตกหนัก โดยในอนาคตการสร้างถนนจะต้องไม่กีดขวางทางน้ำ และให้มีการติดป้ายแจ้งเตือนเส้นทางที่ต้องเฝ้าระวังและเส้นทางที่สามารถสัญจรได้และเส้นทางที่ต้องเลี่ยงการสัญจร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น (4) เมื่อสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย ให้เร่งสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยให้สำรวจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ เพื่อรัฐบาลจะได้เร่งช่วยหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยเร็วที่สุด โดยรัฐบาลเตรียมพร้อมงบประมาณสนับสนุนในส่วนนี้ไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว (5) กรณีพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน จิตอาสา ภาคประชาสังคม และประชาชนร่วมมือกัน โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ รวมไปถึงหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นส่วนที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดและให้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนถึงแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ รวมทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะที่ในส่วนกรมประชาสัมพันธ์ขอให้ทำหน้าที่ให้เร็วและประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง

สำหรับในส่วนของการกำหนดพื้นที่นั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่าต้องมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ ให้ชัดเจนเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่และการช่วยเหลือดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ ทั้งพื้นที่ของประชาชน เกษตรกร ชาวประมง ปศุสัตว์ พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพ เช่น โรงพยาบาลและสถานที่บริการสาธารณสุข ต้องให้สามารถเข้ารับบริการได้ รวมไปถึงการเตรียมการด้านการบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำประปา การสื่อสารหรือโทรศัพท์ก็ต้องสามารถให้บริการได้เช่นกัน และมีการเตรียมแผนสำรองการสื่อสารด้านอื่น ๆ รองรับสถานการณ์ด้วยหากเกิดปัญหาขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมของศูนย์อพยพต้องเพียงพอรองรับประชาชนทุกพื้นที่และประชาชนเกิดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการจัดเตรียมอาหารอุปโภคบริโภคและน้ำ ทั้งในส่วนของคนและสัตว์ ให้เพียงพอ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้กำลังใจทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งในส่วนของรัฐบาลจะดูแลช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ให้มากที่สุด รวมทั้งแสดงความห่วงใยถึงกรุงเทพมหานครด้วย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่พื้นที่ในคันกั้นน้ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ดังนั้น ต้องบริหารจัดการน้ำทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ตลอดจนน้ำในแม่น้ำ คูคลองต่าง ๆ ให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงให้มีการดูแลเฝ้าระวังพื้นที่ริมแม่น้ำและริมตลิ่ง ตลอดจนพื้นที่ตามแนวภูเขาที่อาจได้รับผลกระทบจากดินโคลนถล่มลงมา และเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ทุกพื้นที่ รวมทั้งในกรุงเทพฯ ด้วย เพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมาได้สะดวกและปลอดภัย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงการเดินทางไปจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุบลราชธานีในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.65) ว่า เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ และต้องการไปให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยย้ำว่าไม่ต้องการให้เป็นภาระเจ้าหน้าที่ในการที่ต้องมาต้อนรับ แต่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ไปดูแลประชาชนเป็นสำคัญ ยืนยันนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ด้าน เวิร์คพอยต์ทูเดย์ รายงานเพิ่มเติมว่า ตอนหนึ่งของการประชุม พลเอกประยุทธ์ ได้พูดถึงการเตรียมแผนสำรองสำหรับการสื่อสารกรณีไฟฟ้าดับทั้งหมด การสื่อสารอื่นล่มว่า อาจต้องไปใช้วิทยุทรานซิสเตอร์แจ้งข่าวประชาชนแทน เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

“ถ้าระบบล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา”

Thaiger

The Thaiger นำเสนอข่าวสารล่าสุดและอัปเดตจากทั่วประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button