กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์ เผยภาพหาดูยาก กาแล็กซีรูปก้นหอย IC 5332 อยู่ห่างจากโลก 29 ล้านปีแสง เล็กกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือก 1 ใน 3
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์ เผยภาพอันน่าตื่นตะลึง กาแล็กซีรูปก้นหอย อยู่ห่างจากโลกของเราออกไป 29 ล้านปีแสง โดยการเปิดเผยชุดภาพหาชมยากนี้ ข้อมูลตลอดจนรายละเอียดทั้งหมด ได้ถูกลงเผยแพร่ไว้ใน esawebb.org เว็บไซต์องค์กรอวกาศของยุโรป หรือ อีเอสเอ (อังกฤษ: European Space Agency, ESA )
ข้อมูลจาก องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ระบุว่า กาแล็กซีนี้มีชื่อว่า IC 5332 มีความกว้างประมาณ 66,000 ปีแสง ซึ่งเล็กกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกของเราประมาณ 1 ใน 3
ทั้งนี้ เจมส์ เว็บบ์ เป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกันโดย NASA, ESA และองค์การอวกาศแคนาดา (CSA) โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2021
ขณะที่ภาพกาแล็กซี IC 5332 ชุดล่าสุด โครงการเจมส์ เว็บบ์ ทำการบันทึกภาพดังกล่าวโดยใช้กล้อง Mid-InfraRed Instrument หรือ MIRI ซึ่งเป็นย่านคลื่นอินฟราเรดช่วงกลาง ในการถ่ายภาพ
สำหรับภาพที่ปล่อยออกมา เผยให้เห็นโครงสร้างที่ต่อเนื่องกันอย่างชัดเจน ซึ่งปกติจะถูกกลุ่มฝุ่นอวกาศบดบัง แต่ด้วยความพิเศษของเจ้าอุปกรณ์ MIRI ที่กล่าวมา สามารถเจาะทะลุม่านฝุ่นในอวกาศจนเผยให้เห็นโครงสร้างดังภาพที่ปล่อยออกมา
ภาพของฮับเบิล (ซ้าย) ในแสงอัลตราไวโอเลตและแสงที่มองเห็นได้แสดงให้เห็นแขนกังหันที่ชัดเจน มุมมองอินฟราเรดของเวบบ์ (ขวา) แสดงให้เห็นโครงสร้างที่ต่อเนื่องกันมากกว่า เนื่องจากสามารถมองผ่านบริเวณฝุ่นระหว่างแขนกังหัน และเน้นรูปแบบของก๊าซที่กระจายไปทั่วดาราจักร
ทั้งสองภาพสามารถมองเห็นดาวต่างๆ ได้ต่างกัน เนื่องจากดาวบางดวงสว่างกว่าในช่วงความยาวคลื่นอัลตราไวโอเลต ที่มองเห็นได้ หรืออินฟราเรด