เปิดประวัติ ประเพณีสารทเดือนสิบ ชวนรู้จัก วันชิงเปรต ของภาคใต้ประจำปี 2565 จัดขึ้นวันไหน มีจุดประสงค์อย่างไร
ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ ประเพณีสารทเดือนสิบ หรือ วันชิงเปรต งานบุญสำคัญของพี่น้องชาวใต้ โดยในปีนี้ จัดขึ้นในวันที่ 25 กันยายน ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา วันสารทเดือนสิบ เป็นวันที่ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับจะกลับมายังโลกมนุษย์อีกครั้ง ลูกหลานจึงจัดงานบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ
เปิดประวัติ ประเพณีสารทเดือนสิบ งานบุญวันชิงเปรต
ประเพณีสารทเดือนสิบ หรือ ประเพณีชิงเปรต เป็นงานบุญประเพณีของชาวภาคใต้ ซึ่งพุทธศาสนิกชนเชื่อกันว่า บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ทำบาปไว้มากจะตกนรกกลายเป็นเปรตทนทุกข์ทรมาน ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนบุญกุศลให้
เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ยมบาลจะปลดปล่อย เปรต ทั้งหลาย กลับไปโลกมนุษย์ เพื่อรับส่วนบุญจากลูก หลาน ญาติ พี่น้อง ดังนั้นคนที่ยังมีชีวิตอยู่จึงควรนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงความกตัญญู
วันสารท ยังเป็นช่วงที่โลกออกห่างดวงอาทิตย์มากที่สุด หากนับจากวันสงกรานต์ ถึงวันสารทจะเป็นเวลาประมาณหกเดือนพอดี หากจะนับช่วงเวลาทางจันทรคติคือแรม 15 ค่ำซึ่งเป็นเดือนดับและเป็นเวลาที่โลกมืดมิดที่สุด
ความเชื่อของคนโบราณ จึงถือว่าเป็นเวลาที่วิญญาณกลับจากโลกแห่งความตาย ญาติพี่น้องจึงควรทำบุญเพื่อแผ่ส่วนกุศลไปให้ เมื่อผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญคนเป็นก็จะได้รับพร แต่ถ้าไม่มีใครทำบุญไปให้ก็จะเสียใจบางทีอาจโกรธและสาปแช่ง
วันสารทเดือนสิบ หรือ วันชิงเปรต จึงถือเป็นวันรวมญาติ วันไหว้บรรพบุรุษของชาวไทยนั่นเอง
จุดประสงค์ของประเพณีสารทเดือนสิบ
มีจุดประสงค์เพื่อบำรุงศาสนาด้วยการอุทิศถวายอาหาร พืชผลแรกได้ตามฤดูกาล แด่พระสงฆ์และอุทิศส่วนกุศลแก่บิดามารดาปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อแสดงความยินดีที่ได้รับผลผลิตจากการเพาะปลูกในแต่รอบปี เสริมสิริมงคลแก่เรือกสวนไร่นา
สารทเดือนสิบตรงกับวันไหน ระยะเวลาการงานชิงเปรต
ประเพณีสารทเดือนสิบ ประจำปี 2565 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน และการชิงเปรตจะมีระยะเวลาในการจัด ดังนี้
- ครั้งแรก วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันรับเปรต
- ครั้งที่สอง วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันส่งเปรต
ตามความเชื่อที่ว่าพญายมจะปล่อยดวงวิญญาณของบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วมาพบลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และต้องกลับไปเมืองนรกอีกครั้งในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
การปฏิบัติพิธีประเพณีสารทเดือนสิบ และการชิงเปรต
ก่อนถึงวันสารทเดือนสิบ 1 วัน ชาวบ้านจะทำขนมที่เรียกว่า กระยาสารท และขนมอื่น ๆ แล้วแต่ความเชื่อและความนิยมของแต่ละท้องถิ่นขึ้น แล้วจัดเตรียมขนมและอาหารต่าง ๆ นั้นไปทำบุญตักบาตร ถือศีล ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลร่วมกัน
บางท้องถิ่นมีการจัดทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีไร่ผีนา เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็จะนำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ตามต้นไม้ หรือที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะ การปฏิบัติพิธีกรรมการทำบุญสารทเดือนสิบ มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
1.การจัดหมฺรับและยกหมฺรับ
เริ่มขึ้นในวันก่อนวันงาน ในวันแรม 13 ค่ำ เรียกกันว่า วันจ่าย เพื่อจับจ่ายซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ โดยจัดเตรียมไว้สำหรับใส่หมฺรับ และสำหรับนำไปมอบให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
ขนม 5 อย่างที่ขาดไม่ได้ในประเพณีสารทเดือนสิบ ประกอบด้วย
- ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทน เรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามมาจากโลกหลังความตาย
- ขนมลา สัญลักษณ์แทนความหมายของ แพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม
- ขนมบ้า สัญลักษณ์แทนความหมายของ ลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่นต้อนรับวันสงกรานต์
- ขนมดีซำ สัญลักษณ์แทนความหมายของ เงิน เบี้ย สำหรับใช้สอย
- ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา สัญลักษณ์แทนความหมายของ เครื่องประดับ
2. การฉลองหมฺรับและการบังสุกุล
วันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสารทเรียกว่า วันหลองหมฺรับ มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังโลกแห่งความตาย
3. การตั้งเปรตและการชิงเปรต
เสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้ว ก็จะนำขนมบางส่วนไปวางไว้ตามบริเวณวัด กำแพงวัด หรือโคนต้นไม้ เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศล ให้เป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญได้
บางวัดนิยมสร้างร้านขึ้นเพื่อสะดวกแก่การตั้งเปรต เรียกว่า หลาเปรต หรือ ศาลาเปรต เมื่อตั้งขนม ผลไม้ และและเงินทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะนำสายสิญจน์ที่ได้บังสุกุลแล้ว มาผูกเพื่อแผ่ส่วนกุศลด้วย
การชิงเปรต จะเริ่มหลังการตั้งเปรต ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคัก เพราะความเชื่อว่า ของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หากได้ไปกินก็จะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคล
วัดบางแห่งสร้างหลาเปรตไว้สูง โดยมีเสาเพียงเสาเดียวที่เกลาจนลื่นและชโลมด้วยน้ำมัน ถือว่าเป็นประเพณีที่สร้างความสนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง