โรคกลัวฝน อาการแพนิค ที่ต้องรับมือในวันฝนโปรย
ไขข้อข้องใจ โรคกลัวฝน คืออะไร รู้จักหนึ่งในโรคทางจิตเวช พร้อมส่องอาการและสาเหตุ เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือยามฝนตก
รู้หรือไม่ว่า ในวันที่ฝนตกมักมีคนกลุ่มหนึ่งต้องทุกข์ใจ นั่นก็คือกลุ่มคนที่มีอาการ โรคกลัวฝน หรือ Pluviophobia นั่นเอง วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจ เกี่ยวกับลักษณะอาการกลัวฝน พร้อมสาเหตุทำไมถึงเกิดอาการแพนิคเมื่อฝนตกฟ้าร้อง หากเป็นแล้วต้องรักษายังไงให้ดีขึ้น อย่ารอช้า ไปอ่านรายละเอียดพร้อมกันได้เลย
เปิดสาเหตุ ทำไมถึงเป็นโรคกลัวฝน ?
โรคกลัวฝนคือกลุ่มอาการของโรค phobia ซึ่งจะรู้จักกันในชื่อ Pluviophobia เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติทางใจ ทำให้เกิดอาการแพนิค ผวา และหวาดระแวงเมื่อได้ยินเสียงฝนหรือฟ้าร้อง
ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นโรคกลัวฝน มักมีสาเหตุมาจากประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือมีความทรงจำที่ไม่ดีในอดีต ทำให้มักจะนึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ ทุกครั้งที่ฝนตก กลายเป็นอาการแพนิคที่เรียกว่ากลัวฝนนั่นเอง
นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคกลัวฝนบางราย อาจมีอาการของการกลัวเสียงฟ้าร้อง หรือ Ombrophobia เกิดขึ้นได้ด้วย เป็นเหตุให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะรู้สึกหวาดกลัวเมื่อฝนตกหนักและมีฟ้าร้องเสียงดัง
สำหรับโรคกลัวฝน จะมีอาการที่แสดงออกชัดในเรื่องของการตื่นตัว เมื่อเห็นฟ้าเริ่มมืดคล้ายฝนจะตก เกิดความกังวล ใจสั่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ ในบางรายอาจมีอาการเหงื่อออกที่มือ เวียนหัว ใจสั่น และหายใจหอบร่วมด้วย โดยระดับความรุนแรงของอาการ จะแตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ในอดีตและสภาพจิตใจของแต่ละบุคคล
โรคกลัวฝนต้องรักษายังไง รับมือแบบไหนได้บ้าง?
การเป็นโรคกลัวฝน ถือว่าทำให้ใช้ชีวิตได้ค่อนข้างลำบาก โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ หากอาการไม่ได้รุนแรงมาก จะต้องรับมือด้วยการพาตัวเองให้ออกห่างจากสายฝน เช่น เข้าไปหลบในห้องเมื่อฝนตก หรืออยู่ในห้องที่กั้นเสียงรบกวนด้านนอก เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยโรคกลัวฝนที่อาจมีอาการในระดับที่ควรได้รับการรักษา ตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ จะต้องได้รับการบำบัดที่คล้ายกับโรคแพนิคอื่น ๆ เช่น โรคกลัวน้ำ และโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยอาจเป็นการฝึกหายใจ ควบคุมบำบัดความกลัวทางจิตใจ
ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง อาจต้องปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางในการรักษาต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้ยาในการร่วมรักษาด้วย
ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝนที่ฝนตกหนัก หากใครมีอาการมือสั่น ใจสั่น เกิดอาการวิตกกังวล ลองเช็กตัวเองดูนะว่า กำลังเป็นโรคกลัวฝนอยู่หรือไม่ จะได้รีบหาทางรับมือ หรือปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุดนั่นเอง.
อ้างอิง 1