อาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ภัยเงียบใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม
เช็ก “อาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง” ส่องหาสาเหตุของภัยเงียบและแนวทางป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองให้ปลอดภัย
อีกหนึ่งภัยเงียบอันตรายที่หลายคนคาดไม่ถึงคือ อาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Heart Failure) เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ สามารถพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยทุกอายุ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจากสุขภาพของหัวใจและภาวะความเครียด วันนี้เราจึงจะพาทุกท่าน ไปสังเกตอาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง พร้อมมองหาสาเหตุและวิธีการรักษา เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เป็นอย่างไรไปดูพร้อมกันเลย
อาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงเป็นอย่างไร ?
กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หรือ Heart Failure คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และค่อย ๆ อ่อนกำลังลง ทำให้ผู้ป่วยอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง โดยเฉพาะโรคทางด้านความดันและไขมัน ตลอดจนคนที่มีอาการเครียดหรือมีภาวะติดเชื้อทางกล้ามเนื้อหัวใจ
สำหรับภาวะโรคหัวใจอ่อนแรงนี้ มีอาการที่สังเกตได้อย่างชัดเจนอยู่หลายประการ ได้แก่
- หายใจลำบาก
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย
- ตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่สะดวก
- เวียนศีรษะหรือหน้ามืด
- อึดอัดเมื่อออกกำลังกาย
- เข้าห้องน้ำบ่อยผิดปกติในช่วงกลางคืน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
ในส่วนของสาเหตุที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง อาจมีที่มาได้จากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะการตีบตันของหลอดเลือดที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะความเครียด หรือแม้แต่โรคโควิด 19 ก็ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงได้เหมือนกัน
นอกจากนี้แล้วอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง อาจมีสาเหตุจากโรคประจำตัวอื่น ๆ ได้อีกหลายอย่าง เช่น โรคลิ้นหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดสภาวะมีของเหลวในปอด ออกซิเจนไหลเวียนได้น้อย และไตทำงานได้ลดลงตามมา
วิธีการรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
หากป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง แพทย์จะเริ่มรักษาผู้ป่วยด้วยยาที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกมากขึ้น โดยอาจจะมีการปรับยาในรูปแบบอื่น ๆ ตามความเหมาะสมหลังได้รับการรักษาไประยะหนึ่งแล้ว
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ยังสามารถฟื้นฟูร่างกายตัวเองได้ด้วยการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้ตัวเอง ส่งผลให้ความดันในปอดลดลง ทำให้เหนื่อยน้อยลง อีกทั้งเป็นแก้ปัญหาได้ดีในผู้ป่วยที่มีสภาวะน้ำท่วมปวดร่วมด้วย
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
สำหรับผู้ที่กังวลว่าตัวเองอาจมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และอยากหันกลับมาดูแลตัวเองให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
รวมถึงควรหาวิธีระบายความเครียดที่เหมาะสม ตลอดจนดูแลร่างกายไม่ให้เสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ ทั้งความดัน ไขมันในเลือด เพราะสิ่งเหล่านี้ อาจเข้าไปทำให้เกิดการอุดตันหรือการตีบตันของหลอดเลือดได้นั่นเอง
ฉะนั้นหากใครที่อยากห่างไกลจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ควรเริ่มหันมาดูแลตั้งแต่ตอนนี้ เพราะโรคนี้มักเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน จนหลายคนมักมองข้ามไป.