ฝน 100 ปี คืออะไรหลังนักวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศออกโรงเตือนให้คนไทยระวังซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ฝนแห่งศตวรรษที่ถล่มหนักทุกร้อยปี
หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับฝนร้อยปี ทำให้หลาย ๆ คนสงสัยว่าฝนร้อยปีคืออะไร อธิบายง่าย ๆ ฝน 100 ปี คือ เหตุการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในรอบร้อยปี โดยฝนร้อยปีนั้นอาจทำให้เกิดอุทกภัยใหญ่ซ้ำรอยกับปี 2554
ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศ ออกมาเตือนประชาชนคนไทยว่าในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยจะต้องเจอกับปริมาณฝนที่ตกหนักเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสที่จะกลายเป็นฝนร้อยปีได้
ฝนร้อยปี ต้นเหตุอุทกภัยใหญ่ หวั่นซ้ำรอยน้ำท่วม 2554
นักวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ได้ออกมาเตือนเรื่องฝน 100 ปี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นปรากฏการณ์ที่ฝนจะตกหนักและกินระยะเวลายาวนานมากขึ้นกว่าปกติ โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์ฝนรอบ 80 ปี ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ (6 ส.ค. 65)
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้เคยวิเคราะห์สถานการณ์ฝนตกในประเทศไทยไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
เพื่อต้องการเตือนให้คนไทยได้รับรู้สถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ในปลายปี 2565 โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นการพยากรณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า ให้ภาคประชาชนและภาครัฐเตรียมรับมือกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้เหมือนปี พ.ศ. 2554
แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะน้ำท่วมใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นนี้ จะมีความแตกต่างไปจากปี พ.ศ. 2554 เพราะมีสาเหตุมาจากปริมาณฝนที่ตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง อีกทั้งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ก็พบว่าในช่วงปลายปี 2565 อาจมีพายุหลายลูกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เป็นการทวีคูณความเสี่ยงภัยน้ำท่วมมากขึ้นไปอีก
เตรียมรับมือฝน 100 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ฝนฟ้าอากาศในประเทศไทย ที่อาจกลายเป็นฝน 100 ปี รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ จึงเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่หน่วงน้ำมีน้อย (พื้นที่รองรับน้ำฝน ก่อนระบายสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ) อย่างพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง เตรียมตัวรับมือน้ำท่วมใหญ่ไว้ตั้งแต่ตอนนี้
นอกจากนี้ แม้สถานการณ์ฝนในประเทศไทยจะกลายเป็นฝนในรอบ 100 ปีก็ตาม แต่ถ้าหากเราเตรียมตัวตั้งรับได้ดี ก็จะทำให้ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติน้อยลง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องรีบหามาตรการเร่งด่วนในการป้องกันน้ำท่วม เพื่อให้ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554