เปิดประวัติ “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” องค์กรที่ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ผู้เป็นตำนานของไทย
จากกรณี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. – 12 ก.ค. 67 โดยมี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นผู้เคลื่อนไหวคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่พื้นดังกล่าว ในบทความนี้จึงขอพาผู้อ่านย้อนความประวัติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ใครเป็นผู้ก่อตั้ง และวัตถุประสงค์ของมูลนิธิคืออะไร
ก่อนจะเกิดเป็น “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” คือชายชื่อ วันสืบ
วันสืบ นาคะเสถียร (1 ก.ย. ของทุกปีX คือวันรำลึกถึงคุณงามความดีของนายสืบ นาคะเสถียร เป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้คนสำคัญของประเทศไทย ซึ่งได้เสียสละชีวิตของตนเองในวันที่ 1 ก.ย. 2533 เพื่อหวังให้ชาวไทยหันกลับมาอนุรักษ์ผืนป่าให้มากขึ้น
สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2492 และเสียชีวิตเพราะการฆ่าตัวตายในวันที่ 1 กันยายน 2533 โดยนายสืบ นาคะเสถียรต้องการที่จะปกป้องแก่งเซี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ทำให้การเสียชีวิตในครั้งนี้เป็นการเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ไว้
ย้อนผลงานสืบ นาคะเสถียร มีอะไรบ้าง
สืบ นาคะเสถียรได้ตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับการวิจัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะการสำรวจพันธุ์นก กวางผา และเลียงผา รวมทั้งระบบนิเวศวิทยาในห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ผลงานเด่น ๆ ของสืบ นาคะเสถียร เช่น
- การสัมมนาเรื่องสัตว์ป่าเมืองไทย ปี 2524 หัวข้อการทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
- การสัมมนาเรื่องสัตว์ป่าเมืองไทย ปี 2526 หัวข้อการสำรวจนก บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
- การศึกษานิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ปี 2529
- สำรวจเลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ ปี 2529
- การสัมมนาเรื่องสัตว์ป่าเมืองไทย ปี 2532 หัวข้อการอพยพสัตว์ป่าในอ่างเก็บน้ำรัชชประภา
- รายงานการประเมินผลงานการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้สืบ นาคะเสถียรยังได้รับโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษแห่งภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย
เหตุการณ์เสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2533 นายสืบ นาคะเสถียรได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองตามปกติในฐานะนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสืบ นาคะเสถียรได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำอยู่ ณ ขณะนั้น
ช่วงหัวค่ำของวันนั้น สืบ นาคะเสถียรก็ยังพูดคุยตามปกติกับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ และในช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 ก.ย. 2533 ได้เกิดเสียงปืนดังสนั่นขึ้นมาจากที่พักของนายสืบ นาคะเสถียรเป็นจำนวน 1 นัด
ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปตรวจสอบจนทำให้ทราบว่า นายสืบ นาคะเสถียร ได้เสียชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนที่ยิงเข้าที่ศีรษะด้านขวา นอกจากนี้ยังพบจดหมายหกฉบับที่มีเนื้อความเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายภายในบ้านพักอีกด้วย
นับว่าเป็นเวลาสองสัปดาห์กว่าที่เหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะมีมติเปิดที่ประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข็ง ซึ่งนายสืบ นาคะเสถียรได้พยายามขอให้เปิดการประชุมดังกล่าวมาหลายครั้งแล้ว จึงทำให้เชื่อกันว่าถ้าไม่มีเสียงปืนที่ดังขึ้นจากการเสียสละของสืบ นาคะเสถียรก็มิอาจมีการประชุมนี้เกิดขึ้นได้
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี คือวันสืบ นาคะเสถียร เพื่อรำลึกถึงการเสียสละชีวิตตนเองให้มีการอนุรักษ์ธรรมชาติเกิดขึ้น
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร คือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบสานแนวคิดของสืบ นาคะเสถียรที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ป่าให้มีความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว
หลังจากที่มีพิธีฌาปนกิจศพของนายสืบ นาคะเสถียรขึ้น ต่อจากนั้นเป็นเวลาสิบวัน คือวันที่ 18 กันยายน 2533 ก็ได้จัดตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ขององค์กรคือการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าในประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง