ย้อนรอย 77 ปี การทิ้ง ระเบิดปรมาณู Little Boy โศกนาฏกรรมสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โลกไม่ลืม
ย้อนกลับไปในอดีต เป็นระยะเวลากว่า 77 ปี ที่โศกนาฏกรรมจากสงครามครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ของโลกเกิดขึ้น แม้เวลาจะล่วงเลยมาเนิ่นนาน แต่ชื่อของ ระเบิดปรมาณู Little Boy จะไม่ถูกลืมเลือนออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ นับเป็นอาวุธมหาประลัยที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
วันนี้ The Thaiger จะพาท่านไปย้อนรอยอดีต 6 สิงหาคม 2588 วันที่ระเบิดปรมาณู Little Boy ถูกปล่อยออกมาสู่หน้าประวัติศาสตร์โลก
ย้อนรอย ระเบิดปรมาณู Little Boy โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม
ลิตเติลบอย Little Boy เป็นชื่อรหัสของระเบิกปรมาณูที่ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 6 สิงหาคม 2488 โดย เครื่องบิน B-29 Superfortress ที่มีชื่อ Enola Gay จากเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน
อาวุธนี้ถูกพัฒนาขึ้นในระหว่างจัดตั้ง โครงการแมนฮัตตัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ลิตเติลบอย มีความยาว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร และน้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม บรรจุธาตุยูเรเนียมประมาณ 64 กิโลกรัม ส่วนที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันมีน้ำหนัก 700 กรัม ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างเท่ากับระเบิด TNT 13 กิโลตัน
ลิตเติลบอย ถูกปล่อยลงมาจากระดับความสูง 9,600 เมตร เมื่อเวลาประมาณ 08.15 น. (JST) การจุดชนวนระเบิดเกิดขึ้นที่ระดับความสูง 580 เมตร และด้วยแรงระเบิด 15 กิโลตัน นั่นคือ 6.3 × 10**13 จูล = 63 TJ (เทอราจูล) ส่งผลให้เมืองฮิโรชิม่าทั้งเมืองถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง
การทิ้งระเบิดปรมาณู ลิตเติลบอย ถือเป็นทิ้งการระเบิดปรมาณูครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยการระเบิดปรมาณูครั้งแรกในประวัติศาสตร์เป็นการทดลอง เรียกว่า การทดลองทรีนิตี้ (Trinity Test) ในโครงการแมนฮัตตัน
อีก 3 วันต่อมา วันที่ 9 สิงหาคม สหรัฐอเมริกาก็ทิ้งระเบิดปรมาณูอีกลูกคือ แฟตแมน Fat Man ลงที่เมืองนางาซากิ เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดและยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น เป็นระเบิดนิวเคลียร์ชนิดแกนพลูโตเนียม มีอานุภาพทำลายล้างเท่ากับระเบิด TNT 21 กิโลตัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 75,000 คน
ย้อนรอย ความสูญเสียที่ผู้คนไม่ลืมเลือน
มีผู้คนประมาณ 70,000 คน เสียชีวิตอันเป็นผลจากการระเบิดของ ลิตเติลบอย โดยตรง และที่ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนใกล้เคียงกัน ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนมากเสียชีวิตในภายหลังจากการระเบิด เนื่องมาจากสารกัมมันตรังสี และมะเร็ง มารดาที่กำลังตั้งครรภ์นั้นก็ต้องสูญเสียทารกในครรภ์ไป หรือก็ให้กำเนิดทารกที่พิการ
ความสำเร็จของการทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งนี้ถูกรายงานข่าวกระจายออกไปอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา นักวิจารณ์จำนวนมากคาดว่านี่น่าจะเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามก่อนที่มันจะยืดเยื้อและมีการบุกเกาะญี่ปุ่นอย่างนองเลือด
สงครามนั้นมีแต่ก่อให้เกิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะมีผู้เสียชีวิตหรือไม่จากสงครามนั้น ๆ แต่ท้ายที่สุดผลของมันจะยังคงทิ้งร่องรอยบาดแผลไว้หน้าประวัติศาสตร์ มนุษย์จึงควรใช้บทเรียนจากโศกนาฏกรรมที่ผ่านมา ก้าวข้ามให้ผ่านคำว่าสงครามให้ได้