โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก มีสาเหตุจากอะไร ภัยร้ายสุดอันตรายตระกูลเดียวกับอีโบลา
เตือนภัยสุขภาพ “โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก” (Marburg) หรือไข้เลือดออกมาร์บวร์ก อาการเป็นอย่างไร มีสาเหตุมาจากไหน มีระยะฟักตัวกี่วัน หลังพบผู้ป่วยเสียชีวิตที่กานา รู้ไว้ก่อนจะไม่ทันระวังตัว
หลังจากมีข่าวยืนยันว่าพบผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อ “ไวรัสมาร์บวร์ก” (Marburg) เคสแรกเสียชีวิตที่กานา ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นโรคติดเชื้อตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา สามารถแพร่เชื้อจากค้างคาวผลไม้สู่คนได้ นอกจากนี้ยังสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านสารคัดหลั่งได้อีกด้วย โดยในปัจจุบันยังไม่พบว่ามียาที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อจากไวรัสตัวนี้ได้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ทางทีมงาน The Thaiger จะขอพาทุกคนไปสำรวจอาการของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เกิดจากปัจจัยใด มีระยะฟักตัวกี่วัน ลักษณะอาการเป็นอย่างไร ติดต่อกันผ่านทางไหน และวิธีป้องกันไวรัสชนิดนี้
ไขข้อข้องใจ ‘โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก’ สาเหตุ-อาการ และวิธีป้องกัน
โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก มีสาเหตุมาจากอะไร
เชื้อไวรัสมาร์บวร์กนั้นอยู่ในวงศ์เดียวกับเชื้อไวรัสก่อโรคอีโบลา โดยการรับรู้โรคนี้ครั้งแรกนั้นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในห้องปฏิบัติการโดยเป็นการติดจากสัตว์สู่คน (ลิงและค้างคาว) และหลังจากที่เชื้อไวรัสมาร์บวร์กได้แพร่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์แล้ว ก็สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังมนุษย์ด้วยกันเองได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ หรือจากการสัมผัสพื้นผิวหรือวัสดุที่ได้รับเชื้อ แต่ยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อจากละอองฝอยในอากาศ
อาการของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก และระยะฟักตัว
สำหรับระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสมาร์บวร์กนั้นจะมีระยะเวลาอยูที่ประมาณ 2-21 วัน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉัยบพลันที่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากป่วยเป็นโรคนี้มากถึง 80% โดยผู้ป่วยจะอาการไข้สูงในทันที อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นตุ่มแดงขึ้นตามร่างกาย (maculopapular rash)
นอกจากนี้อาจเป็นสาเหตุของอาการเลือดออกง่าย เนื่องจากตับในร่างกายถูกทำลาย มีอาการไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง รวมไปถึงอาการที่อวัยวะหลายส่วนในร่างกายนั้นเสื่อมสภาพ และนำไปสู่การเสียชีวิตในผู้ป่วยบางราย โดยผู้ป่วยบางรยอาจมีอาการเลือดออกง่ายอย่างรุนแรงตั้งแต่ 7 วันแรกที่มีเชื้อในร่างกาย
วิธีการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ทำได้อย่างไรบ้าง
ในปัจจุบันมีมาตรการในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โดยการแยกผู้ป่วยสงสัยจากผู้ป่วยรายอื่น พร้อมทั้งเฝ้าระวังผู้ที่สัมผัสและใกล้ชิดกับผู้ป่วยอย่างเข้มงวด และเนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้เพียงแค่รักษาตามอาการ ดังนั้นหากใครที่ต้องการจะมีเพศสัมพันธ์ก็ควรให้พ้นจากช่วงเวลาหลังอาการเจ็บป่วยอย่างน้อย 3 เดือน หรือมีเพศสัมพันธ์ได้ก็ต่อเมื่อไม่พบเชื้อในน้ำอสุจิแล้ว
แม้ว่าจะยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กในประเทศไทย แต่เนื่องจากยังเป็นโรคที่ไม่มียารักษา จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว เนื่องจากในขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้แล้ว จึงถือว่ามีความเสี่ยงในการที่จะพบผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กได้เช่นกัน
และทั้งหมดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เชื้อไวรัสตระกูลเดียวกับอีโบลาที่มีอัตราการป่วยที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตสูง สำหรับครั้งหน้าทาง The Thaiger จะมีสาระอะไรดี ๆ มาฝากกันอีกนั้น ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ