ผ่านฉลุย มาตรการ ฉีดไข่ฝ่อ ป้องกันผู้กระทำผิดทางเพศ ก่อเหตุซ้ำ
ที่ประชุมวุฒิสภา ผ่านกฎหมาย ฉีดไข่ฝ่อ หรือฉีดยากดฮอร์โมนทางเพศ ป้องกันผู้กระทำผิดก่อซ้ำ ทั้งนี้ผู้ก่อเหตุต้องยินยอมด้วย
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ประชุมวุฒิสภาได้ร่วมลงเสียงว่าด้วยเรื่องมาตรการ ฉีดไข่ฝ่อ หรือก็คือ มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดจะมีมาตรา 21 ที่แพทย์สามารถให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย (ฉีดให้ฝ่อ) แก่ผู้กระทำผิด
หากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และอายุรศาสตร์อย่างน้อย 2 คน พิจารณาหากเห็นพ้องกันและได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด ซึ่งผลการใช้มาตรการทางการแพทย์ดังกล่าว สามารถใช้เป็นเงื่อนไขพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้
ที่ประชุมได้ลงมติคะแนนเห็นด้วย 145 เสียงต่อ 0 และงดลงเสียง 2 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ซึ่งหลังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้วส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
สำหรับร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. มีจำนวน 43 มาตรา กมธ.ฯ แก้ไข 12 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มมาตรการติดตามผู้กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดทางเพศเกี่ยวกับเด็ก การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย
กำหนดให้มีทั้งมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังฉุกเฉิน ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นอีก เนื่องจากมีกลุ่มผู้กระทำผิดที่ถูกจำคุกและพ้นกำหนดโทษ โดยได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว แต่มีผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่งที่มีแนวโน้มทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมอีก จึงต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
- พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ สมรสเท่าเทียม ต่างกันอย่างไร ทำไม LGBT+ ถึง #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต
- คลิปนาที เฮลั่นที่ประชุมสภาฯ หลังโหวตรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
- ชวนอ่าน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หลังสภารับร่างหลักการ หากปลดล็อกแล้วทำอะไรได้บ้าง