ข่าวเศรษฐกิจ

ครม. รับทราบ ร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ครม. ประกาศถึงการรับทราบข้อเสนอ ร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ที่มีจุดประสงค์เพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

ร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม – นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ว่า ครม. รับทราบข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอ เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงการกำหนดหน้าที่และขั้นตอนในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

ซึ่งข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 10 หลักการ ดังนี้

– หลักการที่ 1 วัตถุประสงค์และขอบเขตของกฎหมาย ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการแพลตฟอร์ม โดยกำหนดผู้ประกอบธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่ม คือ

  1. ผู้ให้บริการตัวกลาง
  2. ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูล
  3. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม
  4. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่
  5. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอ้านาจควบคุม

ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น ผู้ให้บริการที่มีขนาดเล็กที่มีจำนวนธุรกรรมน้อยกว่า 10,000 รายการต่อวัน เป็นต้น

– หลักการที่ 2 หน้าที่พื้นฐานของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม กำหนดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหลักการของกฎหมาย

– หลักการที่ 3 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม ยกเว้นผู้ให้บริการตัวกลาง กำหนดให้มีวิธีการหรือระบบที่สามารถรับแจ้งการกระทำความผิดหรือการใช้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย

– หลักการที่ 4 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มที่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดหน้าที่และมาตรการป้องกันการเกิดการกระทำผิดและความเสียหายขึ้นบนแพลตฟอร์อม

– หลักการที่ 5 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกประเมินความเสี่ยงของระบบและความเสี่ยงอื่น ที่อาจเกิดขึ้นในการใช้บริการแพลตฟอร์ม

– หลักการที่ 6 การรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด (Accreditation of Trusted Flagger) ให้หน่วยงานกำกับดูแล มีการรับสมัคร ตรวจสอบ และรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด

– หลักการที่ 7 การกำกับดูแลสัญญาระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ใช้บริการ กำกับดูแลเนื้อหาสาระของสัญญา หรือข้อตกลง ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักการที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศกำหนด

– หลักการที่ 8 หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแล กำหนดให้ สพธอ. เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามหลักการของกฎหมายนี้

– หลักการที่ 9 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามร่างกฎหมายนี้ มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานแก่หน่วยงานกำกับดูแลอื่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย

– หลักการที่ 10 การรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ใช้แนวทางการกำกับเชิงการป้องกัน (Ex-ante Approach) โดยการกำหนดพฤติกรรมที่ควรทำและพฤติกรรมที่ห้ามทำ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันเป็นเจ้าภาพของร่างกฎหมายและดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายนี้แล้วนำเสนอ ครม.พิจารณา ก่อนส่งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายจัดทำร่างกฎหมายต่อไป

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า หากกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีผลบังคับใช้ จะเป็นกฎหมายกลางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอันจะทำให้ระบบการให้บริการและการใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความชัดเจนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับการแข่งขันในด้านสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

 

แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย

สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button