สินมั่นคงประกันภัย ยื่นคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง
บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด ได้ยื่นคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง พร้อมทั้งเสนอแผนการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น
(18 พ.ค. 2565) หลังจากที่ทาง บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด ได้ประสบกับปัญหาทางการเงินจนทางบริษัทนั้น ต้องเข้าสู่สภาวะล้มละลายในที่สุดนั้น ในเวลานี้ทางบริษัทก็ได้ดำเนินการยื่นคำร้องในการ ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง โดยพร้อมกันนี้ก็ได้เสนอถึงแผนการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นที่ด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ
เนื้อหาของประกาศจากทาง สินมั่นคงประกันภัย มีด้วยกันดังนี้
วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ใจความสำคัญระบุว่า
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ซึ่งกำหนดรายละเอียดในกรณีการขอความยินยอมยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย
ต่อมา คณะกรรมการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้บริษัทฯยื่นขอความยินยอมเพื่อยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการต่อสำนักงาน คปภ. บรริษัทฯจึงได้ยื่นคำขอความยินยอมเพื่อยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการต่อสำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 นั้น
ภายหลังจากที่สำนักงาน คปภ. ได้พิจารณาคำขอดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน คปภ. จึงได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือต่อบริษัทฯ ให้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยบริษัทฯต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว
ในการนี้ บริษัทฯขอเรียนให้ทราบว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 บริษัทฯได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว โดยบริษัทฯขอชี้แจงสาระสำคัญของคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ดังนี้
1. บริษัทฯในฐานะลูกหนี้ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
2. บริษัทฯ เสนอบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน
แนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ได้แก่
3.1 การหาแหล่งเงินทุนใหม่และปรับโครงสร้างทุน โดยเฉพาะการเพิ่มทุนเพื่อระดมเงินจากผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการชำระหนี้ และ/หรือ เพื่อปรับโครงสร้างทุนให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
3.2 การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เสนอชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน
3.3 การศึกษาและจัดเตรียมแผนและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจประกันภัยให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การฟื้นฟูกิจการเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยวิธีการที่มีกฎหมายรองรับและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยบริษัทฯจะดำเนินธุรกิจตามปกติอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
รวมถึงการให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยต่าง ๆ เช่น ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและภาคบังคับ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันขนส่งทางทะเล
โดยบริษัทฯจะดูแลและชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตามทางการค้าปกติ
บริษัท จะแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ รวมถึงความคืบหน้าอื่นเพิ่มเติมต่อไป
แหล่งที่มาของข่าว : ประชาชาติธุรกิจ
สามารถติดตามข่าวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวธุรกิจ
- SME D Bank เพิ่มเงิน ‘สินเชื่อ 3D’ อีก 4 พันล้านบาท
- ‘แอกซ่า สบายใจ มาย เอ็กซ์คลูซีฟ เมด’ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จาก กรุงไทย แอกซ่า