สปสช. เปิดให้ใช้งาน สิทธิบัตรทอง สำหรับ โรคมะเร็ง กับโรงพยาบาล 245 แห่ง
การเผยแพร่ของข้อมูลที่ว่า สปสช. เปิดให้สามารถใช้บริการ สิทธิบัตรทอง สำหรับการรักษา โรคมะเร็ง กับโรงพยาบาล 245 แห่ง นั้น เป็นความจริง
(11 พ.ค. 2565) ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เรื่อง สปสช. ให้ผู้ป่วยที่มี สิทธิบัตรทอง สามารถรักษา โรคมะเร็ง ที่ไหนก็ได้ 245 แห่งทั่วประเทศ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
กระทรวงสาธารณสุขและสปสช.ได้ร่วมกันจัดระบบบริการให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ หรือเป็นมะเร็งรักษาทุกที่ กล่าวคือ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งสามารถไปรักษาได้ทุกที่ที่มีบริการ ไม่จำเป็นต้องรอการรักษาหรือการส่งตัวจากหน่วยบริการใกล้บ้าน รวมทั้งการใช้ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ เช่น เครื่อง PET CT เครื่องฉายรังสีรักษา อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอยในการรับบริการ และได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการที่รองรับนโยบายมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้กว่า 245 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งหน่วยบริการที่มีศักยภาพบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระบบบัตรทอง ได้แก่
1.หน่วยบริการที่รับการส่งต่อทั่วไปที่มีศักยภาพในการให้เคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
2.หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
3.หน่วยบริการในระบบบัตรทองนอกเหนือจากข้อ 1 และ 2 ที่ให้การรักษาและบริการโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่สามารถให้การรักษาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาได้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานการส่งต่อในหน่วยบริการ จะทำหน้าที่ประสานการส่งต่อไปยังหน่วยบริการใกล้บ้านที่มีศักยภาพในการให้บริการรักษาโรคมะเร็ง โดยคำนึงถึงความสะดวกในการให้บริการ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวนาน และได้รับการรักษาทันท่วงที
เนื่องจากมีหน่วยบริการที่มีศักยภาพให้บริการโรคมะเร็งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถึงแม้ว่านโยบายนี้จะมีชื่อว่า มะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง จะสามารถเดินเข้าไปรักษายังหน่วยบริการแห่งใดก็ได้ นั่นเพราะโรคมะเร็งมีหลายชนิด และหน่วยบริการแต่ละแห่งก็มีศักยภาพในการรักษาแตกต่างกัน
ดังนั้น คำว่า “ที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ในที่นี้หมายถึงการรับบริการในหน่วยบริการ 3 ประเภทข้างต้นที่ร่วมให้บริการผู้ป่วยมะเร็งบัตรทอง เป็นการกระจายระบบบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ผ่านการดูแลและอำนวยความสะดวกโดยผู้ประสานงานโรคมะเร็งในแต่ละหน่วยบริการ ซึ่งจะพิจารณาถึงศักยภาพบริการและระยะเวลารอการรักษา เป็นต้น
โดยมีระบบเชื่อมโยงข้อมูล และระบบส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพด้านมะเร็ง ซึ่งจะทำให้เกิดการรักษาและดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและรักษาได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ – https://www.nhso.go.th/ หรือโทรสายด่วน 1330
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข
แหล่งที่มาของข่าว : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย
สามารถติดตามข่าวทั่วไปเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวทั่วไป