ศาลรัสเซีย ตัดสิน! จัดให้ Facebook – Instagram เป็นกลุ่มหัวรุนแรง
ศาลรัสเซีย ได้เผยแพร่คำตัดสินให้ Meta โดยเฉพาะภาคส่วน Facebook – Instagram มีความผิดฐานดำเนินการกิจกรรมในฐานะกลุ่มหัวรุนแรง
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ศาลรัสเซีย ประจำเมืองมอสโคว ได้ประกาศถึงคำตัดสินให้บริษัท Meta โดยเฉพาะอย่างภาคส่วนของแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram มีความผิดในฐานดำเนินการกิจกรรมในฐานะกลุ่มหัวรุนแรง (extremist activity) ซึ่งทั้งนี้คำตัดสินดังกล่าวจะไม่มีผลต่อบริการ WhatsApp แต่อย่างใด
โดยทาง Meta ไม่ได้มีการแสดงความเห็นแต่อย่างใด ภายหลังจากที่ศาลพื้นที่เขต Tverskoi ประจำเมืองมอสโคว ได้แถลงการถึงคำตัดสินดังกล่าวที่ได้รับการยื่นฟ้องจากอัยการภาครัฐ เพื่อให้มีผลต่อการดำเนินการระงับการดำเนินกิจกรรมภายในพื้นที่ของประเทศรัสเซีย
อ้างอิงจากการรายงานของสำนักข่าว Interfax ที่ได้รายงานว่า Victoria Shakina ทนายประจำบริษัท Meta นั้น ได้กล่าวกับศาลไปก่อนหน้านี้ว่า บริษัทนั้นไม่ได้มีการดำเนินกิจกรรมตามที่ได้กล่าวหา และไม่ได้มีการส่งเสริมการเหยียดชาวรัสเซีย (Russophobia) ด้วย
สำนักข่าวรัสเซีย TASS ได้รายงานว่า Olga Solopova ผู้พิพากษาประจำศาลดังกล่าว ได้ตัดสินให้คำสั่งพิพากษานี้มีผลโดยทันที ซึ่งก็ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าทาง Meta นั้นจะดำเนินการอุธรณ์หรือไม่
ในส่วนของ WhatsApp นั้น ศาลได้มีการละเว้นโทษให้ เนื่องจากว่า “แพลตฟอร์มนั้นขาดความสามารถในการดำเนินการสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลแบบสาธารณะ”
โดยการดำเนินการดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นความพยายามแก้เผ็ดล่าสุดของ “รัสเซีย” ภายหลังจากที่ทาง Facebook และ Instagram นั้น เปิดให้ผู้ใช้งานภายในประเทศยูเครนที่ถูกรุกรานโดยประเทศรัสเซีย สามารถที่จะโพสต์ข้อความที่กระตุ้นให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกองกำลังทหาร, หน่วยปฏิบัติการ และประธานาธิบดีรัสเซีย – วลาดิเมียร์ ปูติน ได้
ซึ่งภายหลังนั้น Meta ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อบังคับใหม่ ไม่ให้มีการเรียกร้องถึงการตายต่อประมุขของรัฐ และแนะว่าข้อบังคับการใช้งานนั้น ไม่ควรนำไปตีความเพื่อสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับชาวรัสเซียอย่างทั่วไป แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการฟ้องร้อง และการระงับการดำเนินการได้
แหล่งที่มาของข่าว : Reuter
สามารถติดตามข่าวเทคโนโลยีเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเทคโนโลยี หรือที่นี่ : N. Siripariyasak
- บริการ และแอปของ Apple ล่ม ทั้งหมด เมื่อวานนี้
- Netflix เผยสถิติปุ่ม Skip Intro โดยมีผู้ใช้งานแล้ว 136 ล้านครั้ง