วันสหกรณ์แห่งชาติ รู้จักกับวันสำคัญของ เกษตรกรไทย
วันนี้ The Thaiger Thailand จะพาทุกท่านมารู้จักวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยอย่าง วันสหกรณ์แห่งชาติ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งเราจะมาทำให้ทุกท่านได้เข้าใจความหมายของวันนี้ได้อย่างดียิ่งขึ้น งานนี้ใครที่กำลังหาข้อมูลไปเขียนรายงาน หรือจะเป็นบุคคลที่มีความชื่นชอบในประวัติศาสตร์ของไทยแล้วละก็ แนะนำว่าบทความนี้อาจช่วยให้ความกระจ่างแก่คุณได้ จะมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้นเราไปดูกันเลย ?
ทำความรู้จักกับ วันสหกรณ์แห่งชาติ 26 กุมภาพันธ์ น้อมรำลึกพระคุณบิดาแห่งการ สหกรณ์ไทย
| ก่อนจะรู้จัก วันสหกรณ์แห่งชาติ ต้องทำความรู้จักที่มาของสหกรณ์กันก่อน
แน่นอนว่าหากพูดถึงสหกรณ์หลายคนคงเคยได้ยิน และเข้าใจการทำงานขององค์การกันไปบ้างแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะทราบถึงที่มา ซึ่งแท้จริงแล้วแนวคิดเรื่องสหกรณ์มีจุดกำเนิดจากประเทศอังกฤษ โดยเริ่มมาจากชายที่ชื่อ “Robert Owen” ได้เสนอให้จัดตั้ง “ชมรมสหกรณ์” เพื่อช่วยเหลือบุคคลทั่วไปให้สามารถประกอบธุรกิจโดยการพึ่งพาอาศัยกันได้ แต่เริ่มจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรกที่รัฐอินเดียนาในเมืองนิวฮาโมนี ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2368 และนาย Robert ก็ถูกยกย่องให้กลายเป็นบิดาแห่งการสหกรณ์ของโลกนับแต่นั้นมา
ส่วนในประเทศไทยนั้นสหกรณ์ได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก จากปัญหาความยากจนของชาวนา ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เริ่มต้นจากการจัดตั้งเป็น “สหกรณ์ประเภทหาทุน” โดยก่อตั้งขึ้นในปี
พ.ศ. 2459 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2470 นับเป็นระยะเวลา 12 ปี เป็นจำนวนทั้งหมด 81 สมาคม หลังจากนั้นจึงมีประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ ตามมาในปี พ.ศ. 2471 และนับว่าเป็นก้าวแรกของการเกิดสหกรณ์ในประเทศไทย
| กำเนิดของ วันสหกรณ์แห่งชาติ 26 กุมภาพันธ์ พร้อมกับกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงคุณพระบิดาสหกรณ์ไทย
เรื่องราวของวันสหกรณ์แห่งชาติ นี้ มีที่มาจากการจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรกที่มีชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่กำจัดสินใช้” ตั้งอยู่ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งทั้งหมด 16 คน และมีทุนในการดำเนินงาน 3,080 บาท ทำการจดทะเบียนในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 โดยมี
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ซึ่งในขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ มาเป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรกในกับสหกรณ์แห่งนี้ และทำการดูแลในรูปแบบไรฟ์ไฟเซน ทำให้ชาวนาและเกษตรกรสามารถตั้งตัวได้ โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุนรายใหญ่ จนในกาล
ต่อมาพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการสหกรณ์ของไทยจวบจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชบัญญัติสหกรณ์ ส่งผลให้สหกรณ์หาทุนขนาดเล็กที่ประกอบธุรกิจเพียงอย่างเดียว มีช่องทางในการควบรวมกันเป็นขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มช่องทางในการดำเนินธุรกิจแบบอเนกประสงค์ จนเกิดเป็น “สหกรณ์การเกษตร” ที่ทำให้สมาชิกมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรมากขึ้น จนในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันสหกรณ์แห่งชาติ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ในวันเดียวกับที่ท่านได้โปรดให้มีการจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นนั่นเอง
และนี่คือ ที่มารวมไปถึงความสำคัญของ วันสหกรณ์แห่งชาติ ซึ่งพูดได้ว่าหากไม่มี พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พวกเราก็คงจะไม่ได้เห็นสหกรณ์ในรูปแบบที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้แน่นอน ดังนั้นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ จึงเป็นวันที่ทำให้ทุกคนได้ระลึกถึงพระคุณของพระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย ท่านนี้นั่นเอง ?
เรื่อง : พฤฒ พงษ์พิเชฐ
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
- ภาษีคริปโต 2565 สรุปคำถามและข้อสงสัย คำนวนภาษีอย่างไร
- วิธีเซ็นสำเนาบัตรประชาชนที่ถูกต้อง 2565 ป้องกันมิจฉาชีพ
- ลงทุน พันธบัตรออมทรัพย์ เหมาะกับใคร ผลตอบแทนอะไรบ้าง?
? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger
? Google Play Store
? App Store