กระทรวงการคลังทำการรายงานสรุปผลงานของ มาตรการลดค่าครองชีพ ประจำปี 2564 โดยมียอดใช้จ่ายสะสมทั้งหมด 254,281.7 ล้านบาท จากทั้งหมด 4 โครงการ
มาตรการลดค่าครองชีพ 2564 – (4 ม.ค. 2564) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยตัวเลขเบื้องต้นการใช้จ่ายตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19 ปี 2564 ที่ได้สิ้นสุดโครงการทั้ง 4 โครงการ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยมีผู้ใช้สิทธิสะสมทั้ง 4 โครงการรวม 41.5 ล้านราย ยอดใช้จ่ายสะสมทั้งหมด 254,281.7 ล้านบาท
โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้
1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมประมาณ 13.55 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 24,010 ล้านบาท
2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้ใช้สิทธิสะสมประมาณ 1.51 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 2,183.3 ล้านบาท
3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 26.35 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวน 27.98 ล้านราย และมีจำนวนผู้ใช้สิทธิครบ 4,500 บาท แล้วกว่า 10.87 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 223,921.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 113,936 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 109,985.8 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่
- ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 88,712.9 ล้านบาท
- ร้านธงฟ้า 36,037 ล้านบาท
- ร้าน OTOP 10,843.2 ล้านบาท
- ร้านค้าทั่วไป 84,160.7 ล้านบาท
- ร้านบริการ 3,900.1 ล้านบา
- กิจการขนส่งสาธารณะ 267.9 ล้านบาท
4. โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 91,952 ราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวนกว่า 4.9 แสนราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสมส่วนประชาชน 3,827.4 ล้านบาท มีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 3,064 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 353.8 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายสะสมส่วน e-Voucher 339.2 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายสะสมรวมส่วนประชาชนและ e-Voucher แบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 197.6 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 214.4 ล้านบาท ร้าน OTOP 441 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 3,167.6 ล้านบาท และร้านบริการ 146 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะนำผลการดำเนินโครงการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19 ปี 2564 พิจารณาปรับปรุงเพื่อออกแบบโครงการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป ในขณะเดียวกัน จะมีการปรับปรุงระบบโครงการคนละครึ่งเพื่อรองรับการเปิดโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 อีกด้วย
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวถึง มาตรการช้อปดีมีคืน 2565 ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและค่าบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือ e-Book และสินค้า OTOP ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2565 ซึ่งจะยื่นแบบและชำระภาษีในช่วงต้นปี 2566
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ